การอ่านออกเสียง
1. ความหมายของการอ่านออกเสียง
การอ่านออกเสียง คือ การเปล่งเสียงตามตัวอักษร ถ้อยคำ และเครื่องหมายต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ให้ถูกต้อง ชัดเจน แก่ผู้ฟัง การอ่านออกเสียงถือเป็นการสื่อความหมายที่ก่อให้เกิด “ทักษะ”
- 1.1 เกิดทักษะการเปร่งเสียงให้ชัดเจน
- 1.2 เกิดทักษะการใช้อวัยวะที่ออกเสียงได้ถูกต้อง
- 1.3 เกิดทักษะการออกเสียงควบกล้ำได้ถูกต้อง ชัดเจนยิ่งขึ้น
- 1.4 เกิดทักษะการวิเคราะห์คำที่อ่านมากขึ้น
- 1.5 เกิดทักษะการเปล่งเสียงตามรูปตัวอักษรควบกล้ำได้คล่องแคล่ว
2. หลักเกณฑ์ในการอ่านออกเสียงร้อยแก้ว
หลักเกณฑ์ทั่วไปในการอ่านออกเสียงร้อยแก้ว
- 2.1 ก่อนอ่านควรศึกษาเรื่องที่อ่านให้เข้าใจโดยศึกษาสาระสำคัญของเรื่องและข้อความทุกข้อความเพื่อจะแบ่งวรรคตอนในการอ่านได้อย่างเหมาะสม
- 2.2 อ่านออกเสียงดังพอเหมาะกับสถานที่และจำนวนผู้ฟัง ให้ผู้ฟังได้ยินทั่วถึงกัน ไม่ดังหรือค่อยจนเกินไป
- 2.3 อ่านให้คล่อง ฟังรื่นหูและออกเสียงให้ถูกต้องตามอักขรวิธี ชัดถ้อยชัดคำ โดยเฉพาะตัว ร ล หรือคำควบกล้ำ ต้องออกเสียงให้ชัดเจน
- 2.4 อ่านออกเสียงให้เป็นเสียงพูดอย่างธรรมชาติที่สุด
การเตรียมตัวก่อนการอ่านออกเสียง
การเตรียมตัวก่อนการอ่านออกเสียง
-
อ่านบทให้เข้าใจ การอ่านให้ผู้อื่นฟัง มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้ผู้ฟังรับรู้และเข้าใจตรงตามเนื้อหาสาระที่อ่าน ฉะนั้นผู้อ่านจึงต้องเข้าใจข้อความนั้นเสียก่อนเพื่อความมั่นใจ และเพื่อความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสาร ข้อความใดที่อ่านไม่เข้าใจหรือสงสัยว่าจะผิดพลาด ต้องตรวจสอบเสียก่อน
-
การทำเครื่องหมายแสดงจังหวะการอ่าน ในการอ่านเราควรทำเครื่องหมายลงในบทว่าตอนใดควรหยุด คำใดควรเน้น และคำใดควรทอดจังหวะ การทำเครื่องหมายในบทมีกฎเกณฑ์ตายตัว แต่โดยทางที่นิยมปฏิบัติกัน มักทำเครื่องหมายต่าง ๆ ดังนี้
- เครื่องหมายขีดเฉียงขีดเดียว (/) ขีดระหว่างคำ แสดงการหยุดเว้นนิดหนึ่งเพราะมีคำหรือข้อความอื่นต่อไปอีก การอ่านตรงคำที่มีความหมายนี้ จึงไม่ควรลงเสียงหนักเพราะยังไม่จบประโยค
- เครื่องหมายขีดเฉียงสองขีด (//) ขีดหลังประโยคหรือระหว่างคำเพื่อแสดงให้รู้ว่าให้หยุดเว้นนานหน่อย
- เครื่องหมายวงกลมล้อมคำ เพื่อบอกว่าเป็นคำที่สงสัยหรือไม่แน่ใจว่าอ่านอย่างไร
- คำที่ต้องการเน้นให้ขีดเส้นใต้ที่คำนั้น
- คำใดที่ทอดจังหวะ ให้ทำเส้นโค้งที่ส่วนบนของคำนั้น
- เครื่องหมายมุมคว่ำหรือหมวกเจ๊กคว่ำ (^) แสดงว่าข้อความนั้นจะเน้นเสียงขึ้นสูง และมุมหมายหรือหมวกเจ๊กหงาย แสดงการเน้นเสียงลงต่ำ
- ซ้อมอ่านให้คล่อง หลังอ่านบทจนเข้าใจ หรือบันทึกเสียงไว้เพื่อฟังและแก้ไขข้อบกพร่องของตัวเอง อาจต้องซ้อมหลายครั้งจนกว่าจะแก้ไขได้เป็นที่น่าพอใจ