หน้าหลัก

วิทยาศาสตร์ ม.1 กรดและเบส


ประเภทของกรดและเบส

ประเภทของกรด

1.แบ่งตามองค์ประกอบของธาตุ จะสามารถแบ่งกรดออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  • กรดทวิภาค (Binary acids) เป็นกรดที่ประกอบด้วยธาตุไฮโดรเจน (H) และธาตุอโลหะ ตัวอย่างของกรดในกลุ่มนี้ ได้แก่ กรดไฮโดรฟลูออริก (HF) และกรดไฮโดรคลอริก (HCl)
  • กรดออกซี (Oxyacids) เป็นกรดที่ประกอบด้วยธาตุไฮโดรเจน (H) ออกซิเจน (O) และธาตุอโลหะ ตัวอย่างกรดในกลุ่มนี้ ได้แก่ กรดแอซิติกหรือที่เรียกกันว่ากรดน้ำส้ม (CH3COOH) และกรดคาร์บอนิก (H2CO3)

2.แบ่งตามแหล่งกำเนิดหรือแหล่งที่พบ จะสามารถแบ่งกรดออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  • กรดอินทรีย์ (Organic acid) เป็นกรดที่พบในสิ่งมีชีวิต และมีแหล่งกำเนิดมาจากสิ่งมีชีวิต มักมีคาร์บอน (C) เป็นองค์ประกอบ ตัวอย่างของกรดในกลุ่มนี้ ได้แก่ กรดแอซิติก กรดฟอร์มิกหรือกรดมด (HCOOH) และกรดทาร์ทาริก (C4H6O6) ที่พบในองุ่น
  • กรดอนินทรีย์ (Inorganic acid) เป็นกรดที่พบในแร่ธาตุ ตัวอย่างของกรดกลุ่มนี้ ได้แก่ กรดซัลฟิวริก (H2SO4) และกรดไนตริก (HNO3)

3.เมื่อแบ่งตามจำนวนไฮโดรเจนไอออน ที่ได้จากการแตกตัวของกรด 1 โมเลกุล จะสามารถแบ่งกรดออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  • กรดโมโนโปรติก (Monoprotic acid) คือ กรดที่แตกตัวให้ 1 ไฮโดรเจนไอออนต่อกรด 1 โมเลกุล เช่น กรดไฮโดรฟลูออริก กรดฟอร์มิก และกรดแอซิติก เป็นต้น
  • กรดไดโปรติก (Diprotic acid) คือ กรดที่แตกตัวให้ 2 ไฮโดรเจนไอออนต่อกรด 1 โมเลกุล เช่น กรดซัลฟิวริก กรดคาร์บอนิก และกรดโครมิก (H2CrO4)
  • กรดโพลิโปรติก (Polyprotic acid) คือ กรดที่แตกตัวให้ไฮโดรเจนไอออนมากกว่า 1 ไอออนต่อกรด 1 โมเลกุล เช่น กรดฟอสฟอริก (H3PO4) และกรดซิตริก (C₆H₈O₇)

4.แบ่งตามความสามารถในการแตกตัว จะสามารถแบ่งกรดออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  • กรดแก่ (Strong acid) คือ กรดที่เมื่อละลายน้ำแล้วสามารถแตกตัวให้ไฮโดรเจนไอออนได้ 100 % โดยตัวอย่างที่พบเห็นบ่อย ๆ ได้แก่ กรดไฮโดรคลอริก กรดไฮโดรโบรมิก (HBr) กรดไฮโดรไอโอดิก (HI) กรดซัลฟิวริก กรดคลอลิก (HClO3) กรดเปอร์คลอริก (HClO4) และกรดไนตริก
  • กรดอ่อน (Weak acid) คือ กรดที่เมื่อละลายน้ำแล้วแตกตัวให้ไฮโดรเจนไอออนได้เพียงบางส่วน ตัวอย่างคือ กรดไฮโดรฟลูออริก กรดไฮโดรไซยานิก (HCN) กรดฟอร์มิก และกรดแอซิติก

สมบัติของสารที่เป็นกรด

  • มีรสเปรี้ยว
  • มีฤทธิ์กัดกร่อน
  • ทำปฏิกิริยากับโลหะบางชนิด ได้แก๊สไฮโดรเจน
  • ค่า pH < 7 ที่ 25 องศาเซลเซียส
  • เมื่อนำไปละลายน้ำ จะนำไฟฟ้าได้ และเปลี่ยนสีกระดาษลิตมัสจากสีน้ำเงินเป็นแดง

ประเภทของเบส

แบ่งตามความสามารถในการแตกตัว จะสามารถแบ่งเบสออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  • เบสแก่ (Strong base) คือ เบสที่เมื่อละลายน้ำแล้วสามารถแตกตัวให้ไฮดรอกไซด์ไอออนได้ 100% โดยตัวอย่างที่เพื่อน ๆ จะพบเจอบ่อย ๆ คือ เบสที่เกิดจากโลหะหมู่ 1 และหมู่ 2 เช่น โซเดียมไฮดรอกไซด์ (NaOH) โพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ (KOH) และแคลเซียมไฮดรอกไซด์ (Ca(OH)2)
  • เบสอ่อน (Weak base) คือ เบสที่เมื่อละลายน้ำแล้วแตกตัวให้ไฮดรอกไซด์ไอออนได้เพียงบางส่วนซึ่งน้อยกว่า 100% เช่น แอมโมเนียมไฮดรอกไซด์ (NH4OH) และพีริดีน (C5H5N)

สมบัติของสารที่เป็นเบส

  • มีรสฝาด

  • มีฤทธิ์กัดกร่อน

  • รู้สึกลื่นมือเมื่อสัมผัส

  • มี pH > 7 ที่ 25 องศาเซลเซียส

  • เมื่อนำไปละลายน้ำ จะนำไฟฟ้าได้ และเปลี่ยนสีกระดาษลิตมัสจากสีแดงเป็นน้ำเงิน