หน้าหลัก

เคล็ดลับคุณแม่ทำให้ลูกน้อยแข็งแรงตั้งแต่ในครรภ์

โภชนาการที่สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ถือว่ามีความสำคัญ และมีส่วนทำให้ลูกน้อยที่กำลังเติบโตในครรภ์คแข็งแรง มีสุขภาพดี อวัยวะครบถ้วน มีความสมบูรณ์ทั้งทางด้านร่างกายและพัฒนาการ

เรามาดูกันค่ะว่าสารอาหารอะไรบ้าง? ที่คุณแม่ควรได้รับในระหว่างที่ตั้งครรภ์ลูกน้อย

1.โปรตีน มารดาและทารกในครรภ์ต้องการโปรตีนคุณภาพในปริมาณสูง เพื่อสร้างเซลล์และอวัยวะทั้งของทารกและของมารดา เช่น การขยายตัวของผนังมดลูก การสร้างรกและสายสะดือ จึงควรได้รับโปรตีนเพิ่มขึ้นจาก ก่อนตั้งครรภ์ตั้งแต่มีการปฏิสนธิ

แหล่งอาหาร : โปรตีนได้จาก เนื้อสัตว์นม ไข่ถั่วต่างๆ เต้าหู้น้ำเต้าหู้

2.แคลเซียม มีผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์และการรักษาปริมาณมวลกระดูกของมารดา นอกจากนั้นยังช่วยการพัฒนาระบบประสาท กล้ามเนื้อ หัวใจ หลอดเลือดและช่วยในการแข็งตัวของเลือดควบคุมการหลั่ง ฮอร์โมนบางชนิด

แหล่งอาหาร : อาหารที่มีแคลเซียมสูงได้แก่ นม เป็นแหล่งอาหารที่ดีของแคลเซียมทั้งในด้านปริมาณ และคุณภาพ แคลเซียมจากน้ำนมถูกดูดซึมได้ดี นอกจากนมยังมีจากอาหารอื่น เช่น ผลิตภัณฑ์นม ปลาเล็กปลาน้อย ปลาซาร์ดีนกระป๋อง กุ้งฝอย กุ้งแห้ง คะน้า ใบยอ ผักกวางตุ้ง เป็นต้น

3.โฟเลต เมื่อร่างกายได้รับโฟเลตไม่เพียงพอ จะทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง และยังมีผลต่อการสร้างสมอง ระบบประสาท และไขสันหลังตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิทำให้ทารกมีโอกาสพิการแต่กำเนิด ได้แก่ ภาวะหลอดประสาทของทารกในครรภ์เปิด และอาการปากแหว่งเพดานโหว่

แหล่งอาหาร : ผักและผลไม้ที่เป็นแหล่งอาหารที่ดีของโฟเลต ได้แก่ ดอกกะหล่ำ ดอกและใบกุ้ยช่าย มะเขือเทศ ผักตระกูลกะหล่ำ แตงกวา หน่อไม้ฝรั่ง แครอท ถั่วฝักยาว ผักใบเขียวองุ่น ถั่วเมล็ดแห้ง เป็นต้น

4.เหล็ก ทำหน้าที่สร้างเม็ดเลือดแดงให้เพียงพอสำหรับระบบหมุนเวียนเลือดของมารดาและส่งผ่านสู่ทารกในครรภ์ หญิงตั้งครรภ์ที่มีธาตุเหล็กสะสมในร่างกายน้อย จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโลหิตจางอย่างรวดเร็วตั้งแต่ระยะแรกๆของการตั้งครรภ์

แหล่งอาหาร : อาหารที่มีธาตุเหล็กสูง และดูดซึมได้ดีได้แก่ ตับ เลือด เนื้อสัตว์สีแดงเช่น เนื้อหมู เนื้อวัว ไข่ เป็นต้น และควรกินร่วมกับอาหารที่มีวิตามินซีสูง เช่น ฝรั่ง ส้ม มะขามป้อม เป็นต้น

5.ไอโอดีน การขาดไอโอดีนอย่างรุนแรง ทำให้เกิดภาวะพร่องธัยรอยด์ฮอร์โมน เป็นผลให้ทารกในครรภ์ เกิดความผิดปกติของระดับสติปัญญา การเจริญเติบโตของเซลล์สมองไม่สมบูรณ์ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “โรคเอ๋อ”

แหล่งอาหาร : อาหารที่มีสารไอโอดีนตามธรรมชาติได้แก่ พืชและสัตว์ทะเล ปลาทะเล 100 กรัม มีสารไอโอดีนประมาณ 25 – 70 ไมโครกรัม สาหร่ายทะเลแห้ง 100 กรัม มีสารไอโอดีนประมาณ 200 – 400 ไมโครกรัม