อาการเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เบาหวานขณะตั้งครรภ์ มักไม่ก่อให้เกิดอาการ หรือไม่มีอาการแสดงที่เห็นได้ชัดเจน คุณแม่ตั้งครรภ์อาจมีอาการกระหายน้ำมากขึ้น ปัสสาวะบ่อยขึ้น เบาหวานขณะตั้งครรภ์ เกิดขึ้นได้อย่างไร? คำตอบก็คือ มีหลายปัจจัยที่สามารถส่งผลให้เกิดโรคเบาหวานในขณะตั้งครรภ์ขึ้นได้ ทั้งปัจจัยด้านกรรมพันธุ์ บางคนอาจจะมีคนในครอบครัวเป็นเบาหวานมาก่อน ปัจจัยด้านอายุ สตรีที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปก็มีความเสี่ยงมากขึ้น ด้วยระบบของร่างกายที่เปลี่ยนไป ปัจจัยด้านประวัติการคลอดบุตร
ผู้ที่มีความเสี่ยงอาจเคยมีประวัติคลอดบุตรที่มีน้ำหนักแรกเกิดตั้งแต่ 4 กิโลกรัมขึ้นไป เคยคลอดบุตรที่มีความพิการแต่กำเนิดโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือเคยมีประวัติทารกเสียชีวิตในครรภ์โดยไม่ทราบสาเหตุ รวมทั้งปัจจัยในเรื่องความอ้วน การมีความดันโลหิตสูง ก็เป็นปัจจัยที่จะนำไปสู่การเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้ ผลกระทบของเบาหวานขณะตั้งครรภ์ที่มีต่อคุณแม่ตั้งครรภ์และทารกที่อยู่ในครรภ์ สามารถจำแนกได้ดังนี้
ผลกระทบกับคุณแม่ คุณแม่ที่ระดับน้ำตาลสูงจะทำให้มีความเสี่ยง เช่น เสี่ยงต่อการเกิดครรภ์เป็นพิษ ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ การเกิดภาวะเสื่อมของระบบหลอดเลือด ตา ไต และปลายประสาท นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะได้ง่ายขึ้น
ผลกระทบต่อลูกน้อยในครรภ์ ระดับน้ำตาลที่สูงจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของทารกในครรภ์ ทำให้ทารกจะมีร่างกายใหญ่กว่าปกติ เป็นอุปสรรคต่อการคลอดจนอาจได้รับอันตรายขณะคลอด โอกาสที่จะแท้งบุตรอาจสูงขึ้น และอาจเพิ่มโอกาสที่ทารกจะเสียชีวิตในครรภ์ได้ หลังคลอดระบบการหายใจของทารกอาจมีปัญหาไม่สามารถหายใจได้เองเมื่อแรกคลอด นอกจากนั้นในระยะหลังคลอด อาจเกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ตัวเหลือง ระดับเกลือแร่ในร่างกายอาจผิดปกติได้ การควบคุมระดับน้ำตาล เพื่อลดความเสี่ยงการเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ความเข้มงวด ในขณะตั้งครรภ์คุณแม่ทุกคนควรได้รับการควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือด ให้ใกล้เคียงภาวะปกติมากที่สุด ซึ่งเมื่อคุณแม่ไปฝากครรภ์ แพทย์จะทดสอบกลูโคสในร่างกาย เมื่ออายุครรภ์ได้ 24 – 28 สัปดาห์ แพทย์ก็จะทำการตรวจคัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อาจนัดตรวจครรภ์บ่อยกว่าปกติเพื่อประเมินภาวะสุขภาพของทั้งมารดาและทารก รวมทั้งตรวจเลือดเพื่อดูระดับน้ำตาลเพื่อประเมินและปรับเปลี่ยนการรักษาให้เหมาะสม
ส่วนตัวคุณแม่เองก็ต้องทำการควบคุมอาหารอย่างเข้มงวด และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หากทำทั้ง 2 อย่างแล้วยังมีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์อยู่ แพทย์อาจจะให้ฉีดอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลอีกทางหนึ่งด้วย ประเด็นสำคัญ
- ควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีน
- ลดอาหารจำพวกแป้ง
- รับประทานผักให้มากขึ้น
- ควรงดหรือหลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีรสหวานจัด
- ออกกำลังกาย
ภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทั้งมารดาและทารกในครรภ์ได้และยังมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิด ภาวะครรภ์เป็นพิษได้อีกด้วย แต่หากดูแลรักษาป้องกันอย่างถูกต้องตั้งแต่เริ่มต้นตั้งครรภ์ ความเสี่ยงและอันตรายก็จะน้อยลง เพียงเท่านี้สุขภาพที่ดีของทั้งคุณแม่และคุณลูกก็จะเกิดขึ้นได้อย่างไม่ยากแล้ว
เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ถ้าเป็นแล้วจะหายไหม หลังคลอดบุตร คุณแม่ควรมาพบแพทย์ตามเวลานัดหมาย (Follow-up) เพื่อตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดหลังคลอด เพื่อให้แน่ใจว่าระดับน้ำตาลในเลือดกลับมาเป็นปกติ หากพบว่าคุณแม่เสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 แพทย์จะทำการวินิจฉัยและรักษาต่อไป
ขอขอบคุณบทความจากเพจ โรงพยาบาลสมิติเวช