สาเหตุของอาการท้องผูกในคนท้อง มีดังนี้
• ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน: เมื่อร่างกายเข้าสู่ภาวะการตั้งครรภ์ ฮอร์โมนต่าง ๆ ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย โดยระหว่างการตั้งครรภ์นั้น ฮอร์โมนอย่าง “โปรเจสเตอโรน” จะหลั่งออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้จะทำให้กล้ามเนื้อลำไส้คลายตัวและส่งผลให้อาหารที่เรากินเข้าไปนั้น เคลื่อนตัวได้ช้า ตกค้างอยู่ในลำไส้นานกว่าปกติ ทำให้อุจจาระแข็ง ถ่ายได้ยาก
• ขนาดของทารกในครรภ์: เมื่อทารกในครรภ์เติบโตขึ้น มดลูกก็จะขยายตัวตามไปด้วย อีกทั้งยังมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น ซึ่งน้ำหนักและขนาดที่เพิ่มขึ้นนี้ สามารถไปกดทับ หรือดันลำไส้ ส่งผลให้ลำไส้ขับของเสียออกจากร่างกายได้ยาก
• ธาตุเหล็ก: สำหรับคุณแม่ที่รับประทานยาบำรุงครรภ์ประเภทธาตุเหล็ก เช่น ไตรเฟอร์ดีน (Triferdine) อาจจะทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ เนื่องจากธาตุเหล็กมีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการท้องผูก ยิ่งถ้าร่างกายได้รับธาตุเหล็กในปริมาณที่มากเกินไป จะทำให้แบคทีเรียในลำไส้ย่อยอาหารได้ยากขึ้น หากคุณแม่พบปัญหาท้องผูกจากการรับประทานธาตุเหล็ก ควรปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อจัดสรรปริมาณธาตุเหล็กที่ควรรับประทานให้เหมาะสม
• อาหารและการออกกำลังกาย: การดื่มน้ำไม่เพียงพอ รับประทานอาหารประเภทกากใยน้อย สามารถทำให้เกิดอาการคนท้องท้องผูกได้ รวมทั้งการขาดการออกกำลังกาย หรือเคลื่อนไหวร่างกายก็ทำให้ท้องผูกได้เช่นกัน คุณแม่ตั้งครรภ์ควรดื่มน้ำและรับประทานอาหารที่มีเส้นใยให้เพียงพอ รวมทั้งออกกำลังกายเพื่อช่วยกระตุ้นให้ระบบย่อยอาหารเคลื่อนตัวได้ดี
วิธีแก้ปัญหาท้องผูกในคนท้อง
1. รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยกากใย
อาหารที่อุดมไปด้วยกากใยจะช่วยเพิ่มปริมาณอุจจาระและกระตุ้นการเคลื่อนตัวภายในลำไส้ได้เร็วขึ้น คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรับประทานอาหารจำพวกกากใยปริมาณ 25 – 30 กรัม/วัน โดยอาหารที่อุดมไปด้วยกากใยสามารถหาได้จากอาหารประเภท ผัก ผลไม้ ถั่ว และธัญพืชไม่ขัดสี
2. ดื่มน้ำให้เพียงพอ
นอกจากการรับประทานอาหารจำพวกกากใยแล้ว คุณแม่ตั้งครรภ์ควรดื่มน้ำให้เพียงพอกับที่ร่างกายต้องการ ยิ่งในช่วงตั้งครรภ์แล้ว การดื่มน้ำจะช่วยให้อุจาระอ่อนนุ่ม ง่ายต่อการขับถ่าย คุณแม่ตั้งครรภ์ควรดื่มน้ำอย่างน้อยประมาณ 8 แก้ว/วัน (1 แก้ว = 355 มิลลิลิตร)
3. แบ่งอาหารออกเป็นมื้อเล็ก ๆ หลายมื้อ
ลองปรับเปลี่ยนมื้ออาหารในแต่ละวัน ออกเป็นมื้อเล็ก ๆ 5 – 6 มื้อ แต่ปริมาณอาหารเท่ากับมื้อใหญ่ 3 มื้อ วิธีนี้จะช่วยให้กระเพาะอาหารมีเวลาในการย่อยอาหารมากขึ้น ไม่ทำงานหนักจนเกินไป อีกทั้งยังดีกับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอาการแพ้ท้อง ซึ่งจะช่วยลดอาการคลื่นไส้ อาเจียนได้
4. ออกกำลังกาย
การออกำลังกายจะช่วยกระตุ้นระบบย่อยอาหารให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น ป้องการอาการท้องผูก คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถออกกำลังกายง่าย ๆ เช่น เล่นโยคะ เดิน ว่ายน้ำ เป็นต้น โดยควรใช้เวลาในการออกกำลังกายประมาณ 3 ครั้ง/สัปดาห์ ใช้เวลาครั้งละ 20 – 30 นาที
หากลองใช้วิธีตามที่แนะนำข้างต้นแล้วยังไม่ได้ผล ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการหาสาเหตุของอาการท้องผูก และทำการรักษาต่อไป