ทารกได้รับการปกป้องอยู่ในเยื่อหุ้มรกหรือถุงน้ำคร่ำ ซึ่งเต็มไปด้วยของเหลวที่เรียกว่า น้ำคร่ำ (Amniotic fluid) เมื่อถุงน้ำคร่ำมีรอยแตกหรือรั่ว น้ำคร่ำจะไหลออกมาผ่านทางปากมดลูกและช่องคลอด หรือที่เรียกว่า ภาวะน้ำเดิน
ภาวะน้ำคร่ำรั่วที่เกิดหลังสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์เรียกว่า ภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์ (Premature Rupture of Membranes: PROM) หากเกิดหลังสัปดาห์ที่ 37 จะเรียกว่า ภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด (Preterm Premature Rupture of Membranes: PPROM) แต่ไม่ว่าจะเกิดในช่วงใดของการตั้งครรภ์ก็อาจเป็นผลเสียต่อทารกและการตั้งครรภ์ได้
อันตรายจากภาวะน้ำคร่ำรั่ว
น้ำคร่ำเป็นของเหลวสำคัญต่อการตั้งครรภ์ทารก การรั่วของน้ำคร่ำทีละเล็กน้อยติดต่อกันเป็นเวลานาน จะส่งผลให้ปริมาณน้ำคร่ำลดลง จนนำไปสู่ภาวะน้ำคร่ำน้อย (Oligohydramnios) หรือน้ำคร่ำในถุงน้ำคร่ำมีปริมาณต่ำกว่า 500 มิลลิลิตรในช่วงสัปดาห์ 32–36 ของการตั้งครรภ์ แต่เกณฑ์การประเมินอาจต่างออกไปเมื่อเกิดในช่วงอื่นของการตั้งครรภ์
ผลกระทบจากภาวะน้ำคร่ำรั่วและภาวะน้ำคร่ำน้อย สามารถแบ่งออกได้ 2 รูปแบบตามช่วงเวลาที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ดังนี้
ภาวะน้ำคร่ำรั่วในไตรมาสที่ 1 และ 2
ภาวะน้ำคร่ำรั่วในช่วงสองไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์นั้นพบได้ยาก แต่หากถุงน้ำคร่ำของคุณแม่รั่วในช่วงนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น
- คลอดก่อนกำหนดหรือภาวะที่คุณแม่คลอดทารกก่อน 37 สัปดาห์
- ภาวะพิการแต่กำเนิดที่ส่งผลให้อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของทารกไม่สมบูรณ์
- แท้งหรือภาวะหยุดตั้งครรภ์ของตัวอ่อนที่เกิดก่อน 20 สัปดาห์
- ภาวะตายคลอด (Stillbirth) เป็นภาวะที่ทารกเสียชีวิตหลังอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ แต่ยังอยู่ในครรภ์จนครบกำหนดและคลอดออกมา
ภาวะน้ำคร่ำรั่วในไตรมาสที่ 3
เมื่อภาวะน้ำคร่ำรั่วเกิดในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ หรือตั้งแต่เดือนที่ 7–9 อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อไปนี้
- ทารกสุขภาพอ่อนแอ
- ภาวะทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า (Intrauterine Growth Restriction: IUGR)
- ภาวะคลอดยาก เช่น สายสะดือถูกดขณะมดลูกหดรัดตัว ทำให้ทารกในครรภ์ขาดออกซิเจน และอาจพบปัญหาคลอดยากอื่น ๆ อย่างทารกไม่กลับหัว ภาวะขี้เทาปนในถุงน้ำคร่ำ (Meconium-Stained Fluid) ซึ่งอาจทำให้ทารกสำลักและขาดอากาศหายใจ
- ความเสี่ยงที่จะต้องผ่าคลอดสูงขึ้น เนื่องจากทารกบางคนที่คุณแม่มีภาวะน้ำคร่ำรั่วอาจไม่สามารถคลอดด้วยวิธีปกติได้อย่างปลอดภัย จึงจำเป็นต้องผ่าคลอด
นอกจากนี้ ภาวะน้ำคร่ำรั่วอาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนรูปแบบอื่น ๆ อย่างภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด (Placental Abruption) ภาวะรกติดเชื้อ และภาวะติดเชื้อหลังคลอด (Postpartum Infection)
ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลให้เกิดภาวะน้ำคร่ำรั่ว
ปัญหาสุขภาพและประวัติสุขภาพบางอย่างของคุณแม่อาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะน้ำคร่ำรั่วได้ เช่น
- คุณแม่มีน้ำหนักตัวน้อยและได้รับสารอาหารต่ำกว่าที่ควรได้รับ
- คุณแม่สูบบุหรี่หรือใช้สารเสพติดระหว่างตั้งครรภ์
- คุณแม่เคยมีภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์ (PROM) หรือภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด (PPROM) ในการตั้งครรภ์ครั้งก่อน
- ภาวะเลือดออกจากช่องคลอดในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของการตั้งครรภ์
- ภาวะติดเชื้อบริเวณมดลูก ปากมดลูก ช่องคลอด หรือถุงน้ำคร่ำ
- ภาวะปากช่องคลอดแคบ
คุณแม่จะทราบได้อย่างไรว่าน้ำคร่ำรั่ว
ภาวะน้ำคร่ำรั่วแตกต่างจากภาวะน้ำเดินหรือภาวะถุงน้ำคร่ำแตก เพราะภาวะเหล่านั้นสามารถสังเกตเห็นน้ำคร่ำที่ไหลออกมาในปริมาณมากจากเยื่อบุถุงน้ำคร่ำแตก แต่ภาวะน้ำคร่ำรั่วอาจสังเกตได้ยากกว่า เพราะเป็นภาวะที่เกิดรูรั่วเล็ก ๆ บนเยื่อบุถุงน้ำคร่ำที่ส่งผลให้น้ำคร่ำไหลออกทีละน้อย คุณแม่จึงอาจไม่ทันสังเกตเห็น และหากปล่อยไว้นานวันอาจทำให้เกิดภาวะน้ำคร่ำน้อย
คุณแม่สามารถตรวจสอบการรั่วของน้ำคร่ำด้วยตนเองได้ง่าย ๆ ด้วยการใช้ผ้าอนามัยติดกับกางเกงชั้นในเหมือนตอนที่คุณแม่มีประจำเดือน และหมั่นตรวจดูรอยหยดน้ำบนผ้าอนามัยทุก 30–60 นาที โดยรอยหยดน้ำที่เป็นสีเหลืองจะเป็นปัสสาวะ ส่วนสีใสหรือไม่มีสีก็เป็นไปได้ว่าอาจมีน้ำคร่ำรั่วออกมา เพราะปกติแล้วน้ำคร่ำมักจะไม่มีสีและมีกลิ่นที่ต่างจากปัสสาวะ
คุณแม่ที่ไม่แน่ใจสามารถทดสอบซ้ำได้ แต่หากพบรอยหยดน้ำเป็นสีใสเหมือนเดิม ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติม นอกจากนี้ อีกวิธีที่ทดสอบได้คือ เมื่อคุณแม่เข้าห้องน้ำแล้วกางเกงชั้นในเปียกบ่อยครั้งแม้ว่าจะซับปัสสาวะเรียบร้อย หรือมีรอยหยดน้ำเป็นประจำบนกางเกงชั้นใน ก็เป็นไปได้ว่าคุณแม่อาจมีภาวะน้ำคร่ำรั่วแฝงอยู่ โดยคุณแม่อาจตรวจซ้ำด้วยวิธีข้างต้นหรือไปพบแพทย์เพื่อตรวจก็ได้เช่นเดียวกัน
หากคุณแม่สังเกตแล้วพบว่าภาวะถุงน้ำคร่ำแตกควรไปพบแพทย์ทันที รวมถึงกรณีที่น้ำคร่ำรั่วแล้วพบว่าน้ำคร่ำเป็นสีเขียวคล้ำ สีเหลืองปนน้ำตาล ควรไปพบแพทย์ทันทีเช่นเดียวกัน เพราะอาจเป็นสัญญาณของภาวะแทรกซ้อนอันตรายได้