หน้าหลัก

วิชาประวัติศาสตร์ ม.1 เรื่อง การนับศักราช


การนับศักราช

ศักราช หมายถึง การกำหนดเวลาขึ้นมาโดยนับเป็นปี ซึ่งเริ่มนับปีแรกจากเหตุการณ์สำคัญ โดยเฉพาะเหตุการณ์สำคัญทางศาสนาและการขึ้นครองราชย์ของพระมหากษัตริย์ การนับศักราชจะช่วยให้เรารู้ว่าเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเกิดในช่วงเวลาใด

ประวัติศาสตร์คือ การศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ ในอดีตโดยมีความสัมพันธ์ก่อให้เกิดความง่ายต่อการทำความเข้าใจในเหตุการณ์ต่าง ๆ โดยมีระยะเวลาเป็นตัวกำหนดในการศึกษาเรื่องราวการนับเวลาและการเปรียบเทียบศักราชในการศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ มักนิยมใช้การระบุช่วงเวลาเพื่อให้ทราบถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยจะแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ การนับเวลาแบบไทย และการนับเวลาแบบสากลการนับ เวลาแบบไทยในประวัติศาสตร์ไทย จะมีการบันทึกเรื่องราวต่างๆ โดยมีการอ้างอิงถึงการ นับช่วงเวลาแตกต่างกันไป ตามแต่ละท้องถิ่นมีดังนี้

การนับศักราชที่ใช้ในประวัติศาสตร์ไทย

พุทธศักราช (พ.ศ.)

เป็นศักราชที่เราคุ้นเคยมากที่สุด ประเทศไทยเริ่มนับ พ.ศ. 1 หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว 1 ปี แต่มีหลายประเทศเริ่มนับตั้งแต่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน เช่น ประเทศเมียนมา ส่งผลให้ปี พ.ศ. ในไทยกับเมียนมาไม่ตรงกัน เช่น ถ้าไทยตรงกับปี พ.ศ. 2563 เมียนมาจะเป็นปี พ.ศ. 2564 เพราะนับเร็วกว่าไทย 1 ปี การนับศักราชแบบพุทธศักราชในไทยเริ่มต้นครั้งแรกในสมัยอยุธยา และใช้อย่างเป็นทางการในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวจนถึงปัจจุบัน

มหาศักราช (ม.ศ.)

สำหรับมหาศักราชนี้มีที่มาจากพระเจ้ากนิษกะแห่งราชวงศ์กุษาณะในประเทศอินเดีย ก่อนจะเผยแพร่มายังประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในศิลาจารึกยุคก่อนสุโขทัยและสมัยสุโขทัย มหาศักราชที่ 1 ตรงกับ พ.ศ. 622

จุลศักราช (จ.ศ.)

จุลศักราชเริ่มนับครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 1182 ซึ่งที่มาของจุลศักราชนั้น ยังไม่แน่ชัด บ้างก็กล่าวว่ามาจากพม่า โดยเริ่มจากวันที่พระเถระนามว่าบุพโสระหันสึกจากการเป็นพระออกมาชิงราชบัลลังก์ ในสมัยพุกาม บ้างก็กล่าวว่ามาจากล้านนา โดยพระยากาฬวรรณดิศ ได้ตั้งจุลศักราชขึ้นมาใช้แทนมหาศักราช หรือบางแหล่งกล่าวว่า จุลศักราชมีพัฒนาการมาจากศักราชโบราณของอินเดียเช่นเดียวกับมหาศักราช โดยนิยมใช้จุลศักราช สำหรับคำนวณเกี่ยวกับโหราศาสตร์ จารึก ตำนาน จดหมายเหตุ พงศาวดารต่าง ๆ ก่อนจะถูกยกเลิกไปในสมัยรัชกาลที่ 5 เพราะเปลี่ยนมาใช้รัตนโกสินทรศก (ร.ศ.)

รัตนโกสินทรศก (ร.ศ.)

หลังจากยกเลิกจุลศักราชแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้ริเริ่มการใช้รัตนโกสินทรศก (ร.ศ.) ซึ่งเริ่มนับตั้งแต่การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ในปี พ.ศ. 2325 ก่อนจะถูกยกเลิกการใช้ในช่วงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว

การนับศักราชแบบอื่น ๆ

คริสต์ศักราช (ค.ศ.)

เริ่มนับ ค.ศ. 1 ตั้งแต่ พ.ศ. 544 ดังนั้น ค.ศ. = พ.ศ. - 543 เป็นการนับศักราชของศาสนาคริสต์ซึ่งนิยมใช้ในประเทศทางตะวันตก และเผยแพร่ไปทั่วโลก โดยเริ่มนับคริสต์ศักราชที่ 1 ตั้งแต่ปีที่พระเยซูคริสต์ประสูติ ตรงกับ พ.ศ. 544

ฮิจเราะห์ศักราช (ฮ.ศ.)

เริ่มนับ ฮ.ศ. 1 ตั้งแต่ พ.ศ. 1665 (แต่จะเพิ่มขึ้น 1 ปี ทุก ๆ 32 ปีครึ่ง เมื่อเทียบกับพุทธศักราช) ปัจจุบัน ฮ.ศ. = พ.ศ - 1122

เป็นการนับศักราชของศาสนาอิสลาม ซึ่งคำว่าฮิจเราะห์ แปลว่า การอพยพ โดยเริ่มนับจากเหตุการณ์ที่นบีมูฮัมหมัดนำเหล่าสาวกอพยพจากเมืองเมกกะไปยังเมืองเมดินา ในช่วงพุทธศักราช 1165 ปัจจุบันเราสามารถคำนวณปีฮิจเราะห์ศักราชได้โดยการนำปี พ.ศ. มาลบกับเลข 1122 อย่างไรก็ดี เนื่องจากการนับปีตามปฏิทินจันทรคติของศาสนาอิสลาม ทำให้ทุก ๆ 32 ปีครึ่งระยะห่างระหว่างปี ฮ.ศ. กับ พ.ศ. จะเพิ่มขึ้น 1 ปี หมายความว่าปัจจุบันเราใช้ 1122 ไปลบกับปี พ.ศ. แต่อนาคตเราจะเปลี่ยนไปใช้เลข 1123 มาลบกับปี พ.ศ. เพื่อคำนวณปี ฮ.ศ.

การเทียบศักราช

มหาศักราช (ม.ศ.)

คำนวณโดยการนำพุทธศักราช (พ.ศ.) มาลบด้วย 621 (ม.ศ. = พ.ศ. - 621)

จุลศักราช (จ.ศ.)

คำนวณโดยการนำพุทธศักราช (พ.ศ.) มาลบด้วย 1181 (จ.ศ. = พ.ศ. - 1181)

รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.)

คำนวณโดยการนำพุทธศักราช (พ.ศ.) มาลบด้วย 2325 (ร.ศ. = พ.ศ. - 2324)

คริสต์ศักราช (ค.ศ.)

คำนวณโดยการนำพุทธศักราช (พ.ศ.) มาลบด้วย 543 (ค.ศ. = พ.ศ. - 543)

ฮิจเราะห์ศักราช (ฮ.ศ.)

คำนวณโดยการนำพุทธศักราช (พ.ศ.) มาลบด้วย 1122 (ฮ.ศ. = พ.ศ - 1122)

ม.ศ.+621=พ.ศ.
จ.ศ.+1181=พ.ศ.
ร.ศ.+2325=พ.ศ.
ค.ศ.+543=พ.ศ.
ฮ.ศ.+621=ค.ศ
ฮ.ศ.+1164=พ.ศ.
พ.ศ.-621=ม.ศ.
พ.ศ.-1181=จ.ศ.
พ.ศ.-2325=ร.ศ.
พ.ศ.-543=ค.ศ.
ค.ศ.-621=ฮ.ศ.
พ.ศ.-1164=ฮ.ศ.

ทศวรรษ ศตวรรษ สหัสวรรษ

ทศวรรษ

‘ทศ’ แปลว่า สิบ ส่วน ‘วรรษ’ แปลว่า ปี ดังนั้น ทศวรรษจึงใช้เพื่อนับเวลาในรอบ 10 ปี โดยเริ่มนับจากศักราชที่ลงท้ายด้วย 0 ไปจนถึงศักราชที่ลงท้ายด้วย 9 เช่น

  • ทศวรรษ 1990 หรือ 1990’s หมายถึง ค.ศ. 1990 - ค.ศ. 1999

ศตวรรษ

‘ศต’ แปลว่า หนึ่งร้อย ส่วน ‘วรรษ’ แปลว่า ปี ดังนั้น ศตวรรษจึงใช้เพื่อนับเวลาในรอบ 100 ปี โดยเริ่มนับจากศักราชที่ลงท้ายด้วย 01 ไปจนถึงศักราชที่ลงท้ายด้วย 00 เช่น

  • คริสต์ศตวรรษที่ 21 หมายถึง ค.ศ. 2001- ค.ศ. 2100

สหัสวรรษ

‘สหัส’ แปลว่า หนึ่งพัน ส่วน ‘วรรษ’ แปลว่า ปี ดังนั้น สหัสวรรษจึงใช้เพื่อนับเวลาในรอบ 1000 ปี โดยเริ่มนับจากศักราชที่ลงท้ายด้วย 001 ไปจนถึงศักราชที่ลงท้ายด้วย 000 เช่น

  • สหัสวรรษที่ 2 ตามคริสต์ศักราช หมายถึง ค.ศ. 1001 - ค.ศ. 2000