หน้าหลัก

เนื้องอกมดลูก

เนื้องอกมดลูก สามารถเกิดขึ้นได้ทุกวัย พบได้บ่อยในช่วงอายุ 30-40 ปี แต่ประมาณร้อยละ 20-30 เท่านั้นที่จะมีอาการ อย่างไรก็ตามหากปล่อยไว้นาน และ เนื้องอกมีขนาดใหญ่ขึ้นๆ อาจส่งผลกระทบต่อตัวมดลูกหรืออวัยวะข้างเคียงได้

เนื้องอกมดลูกเกิดจากอะไร

โรคนี้ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิดได้อย่างแน่ชัด แต่สามารถสันนิษฐานได้ 3 ประการ ดังนี้

  1. เกิดจากกรรมพันธุ์ หากมีคนในครอบครัวเป็นเนื้องอกอาจทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นเนื้องอกได้มากยิ่งขึ้น

  2. ฮอร์โมน การทำงานของฮอร์โมนเพศหญิงบางประเภท เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจน อาจเป็นตัวเร่งให้เกิดการเจริญเติบโตของเซลล์ เมื่อเซลล์กล้ามเนื้อตอบสนองต่อการทำงานของฮอร์โมนผิดปกติ จึงมีการสร้างเซลล์ที่ผิดปกติไปด้วย

  3. การใช้ยา เช่น ยาคุมกำเนิดจะมีฮอร์โมนบางตัวที่อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเพิ่ม หรือกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์เนื้องอกในมดลูกได้

ชนิดของเนื้องอกมดลูกแบ่งตามตำแหน่งได้ 3 ชนิดดังนี้

1.เนื้องอกที่ผิวของผนังมดลูก เนื้องอกชนิดนี้มักไม่ทำให้ประจำเดือนผิดปกติ แต่ถ้าก้อนโตมากขึ้น อาจเบียดอวัยวะข้างเคียง เช่น ลำไส้ หรือกระเพาะปัสสาวะ หรืออาจมีการบิดที่ขั้วของเนื้องอก ทำให้เกิดอาการปวดท้องรุนแรงได้ 2.เนื้องอกในกล้ามเนื้อมดลูก จะทำให้ประจำเดือนมามากกว่าปกติ ปวดประจำเดือน หรือมีบุตรยาก ความรุนแรงขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของก้อนเนื้องอก 3.เนื้องอกในโพรงมดลูก เนื้องอกชนิดนี้จะทำให้มีบุตรยาก แท้งบุตรง่าย #มีประจำเดือนมาก และนานกว่าปกติ หรือ #ปวดประจำเดือนมาก เนื้องอกมดลูกอาจมีก้อนเดียวหรือหลายก้อนในคนเดียวกัน หรืออาจมีหลายๆ ชนิดปนกันก็ได้ การรักษาเนื้องอกมดลูกนั้น ปัจจุบันยังไม่มียาที่ทำให้เนื้องอกเล็กลงได้อย่างถาวร เมื่อผู้ป่วยมีอาการจากเนื้องอกที่ไม่สามารถบรรเทาได้ด้วยยา การนำเนื้องอกออกด้วยการผ่าตัดจึงเป็นทางเลือกอันดับแรกในการรักษา ปัจจุบันมีนวัตกรรมการผ่าตัดส่องกล้อง แผลมีขนาดเล็กมาก อีกทั้งเทคโนโลยีการแสดงภาพจากกล้อง 4K หรือ 3D ก็จะเป็นตัวช่วยให้แพทย์มองเห็นรอยโรคได้อย่างคมชัด สามารถมองขยายได้มากขึ้น เพื่อผลการผ่าตัดที่ดียิ่งขึ้น ใช้ระยะเวลาพักฟื้นไม่นาน และผู้ป่วยสามารถลุกเดินได้ตั้งแต่วันแรกที่ทำการผ่าตัดอีกด้วย

อาการ

  • มีอาการปวดประจำเดือนมากขึ้น
  • บางทีไม่มีประจำเดือนแต่ก็รู้สึกปวดท้องคล้ายปวดประจำเดือนอยู่ตลอดเวลา
  • อาการประจำเดือนมามากผิดปกติ
  • ถ้าเนื้องอกมดลูกมีขนาดใหญ่ อาจจะไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ ก็จะทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อย
  • ถ้าเนื้องอกมดลูกไปกดทับบริเวณลำไส้ตรง ก็อาจทำให้ท้องผูก

การรักษาเนื้องอกมดลูก

  1. การรักษาโดยใช้ยา การใช้ยากลุ่มอื่น เช่น การทานยาคุมกำเนิด หรือการฉีดยาคุมกำเนิด สามารถช่วยได้ในเรื่องของการมีประจำเดือนมามาก

  2. การรักษาโดยการผ่าตัด การรักษาวิธีนี้แพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสม โดยสามารถใช้ได้ 2 วิธี​ ดังนี้

  3. การส่องกล้องทางโพรงมดลูก (Myomectomy) ใช้รักษาเนื้องอกมดลูกที่อยู่ในโพรงมดลูก โดยจะสอดกล้องผ่านช่องคลอดไปที่ปากมดลูกเข้าสู่โพรงมดลูก และใช้ลวดไฟฟ้าในการตัดเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกออก โดยที่ไม่ต้องตัดมดลูกออก เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ยังต้องการมีบุตร

  4. การผ่าตัดนำมดลูกออกไป (Hysterectomy) เป็นวิธีรักษาที่หายขาดเพราะเป็นการตัดมดลูกออกไป ซึ่งมักจะใช้ในกรณีที่เนื้องอกมีขนาดใหญ่ นอกจากนี้อาจใช้กับผู้ป่วยที่อยู่ในวัยใกล้หมดประจำเดือน หรือไม่ต้องการตั้งครรภ์อีก

การป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงเนื้องอกมดลูก

  1. ตรวจคัดกรอง ควรตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี ซึ่งสามารถตรวจได้แม้จะยังไม่มีอาการ

  2. ปรับพฤติกรรม หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรืองดสูบบุหรี่ รวมถึงรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ เพราะการรับประทานอาหารที่มีไขมันมากจะทำให้ปริมาณของฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น

  3. ควบคุมน้ำหนักตัว โรคนี้มักพบกับผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินจึงควรควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

  4. ออกกำลังกายเป็นประจำ หมั่นออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง เพราะการออกกำลังกายจะช่วยปรับสมดุลของฮอร์โมนในร่างกายได้

ที่มาเพจ โรงพยาบาลเพชรเวช