เกล็ดเลือดต่ำ คือ ระดับเกล็ดเลือดน้อยกว่า 150,000 เซลล์/ไมโครลิตร แต่อย่างไรก็ตาม หากมีเกล็ดเลือดต่ำ ไม่จำเป็นต้องมีอาการได้ ยกเว้นกรณีที่ต่ำมาก คือ มีระดับเกล็ดเลือดที่น้อยกว่า 30,000 เซลล์/ไมโครลิตร จะเป็นความเสี่ยงที่อาจจะเกิดเลือดออกได้เอง โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีอุบัติเหตุ หรือการกระทบกระแทก
สาเหตุของเกล็ดเลือดต่ำ
1.โรคที่มีความผิดปกติของไขกระดูก ได้แก่
- กลุ่มโรคไขกระดูกผ่อ ทั้งเป็นตั้งแต่กำเนิด เป็นภายหลัง หรือเป็นในผู้สูงอายุ เกิดจากการสัมผัสสารเคมี ยาฆ่าแมลง หรือติดเชื้อไวรัสบางชนิดกลุ่มโรคที่มีความผิดปกติในไขกระดูก เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว
- สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้ไขกระดูกสร้างเกล็ดเลือดได้ลดลง เช่น ผลของยาบางชนิดและการติดเชื้อไวรัส
2.เกล็ดเลือดถูกทำลายหรือใช้เกล็ดเลือดมากกว่าปกติ ได้แก่
- เกล็ดเลือดถูกภูมิคุ้มกันทำลายเมื่อร่างกายติดเชื้อไวรัส หรือได้รับวัคซีน
- โรคความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน
- เกล็ดเลือดถูกใช้เพื่อการหยุดเลือดจากการที่มีเลือดออกรุนแรงหรือเมื่อร่างกายเกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรง
- เนื้องอกหลอดเลือดบางชนิด โดยพบก้อนสีแดงช้ำร่วมด้วย
หากเกล็ดเลือดต่ำควรทำอย่างไร?
ควรรีบมาปรึกษาแพทย์ แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เพื่อยืนยันสาเหตุเกร็ดเลือดต่ำว่าเกิดจากอะไร เพื่อให้การรักษาตรงตามสาเหตุนั้น ๆ ต่อไป ภาวะเกล็ดเลือดต่ำจะไม่อันตรายถึงชีวิต หากรู้เท่าทัน เข้ารับการรักษา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่าง เคร่งครัด
การตรวจและวินิจฉัย
การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (complete blood count: CBC) รูปร่าง ขนาดของเกล็ดเลือด รวมถึงอาการแสดงอื่นที่บ่งบอกถึงภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
แนวทางปฏิบัติตัวเมื่อเกิดภาวะเกร็ดเลือดต่ำ
- ใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงอ่อนนุ่ม ห้ามใช้ไหมขัดฟัน
- หลีกเลี่ยงการทำฟันหรือผ่าตัดอื่นๆ หากยังไม่ได้ปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล
- ห้ามยกของหนัก เล่นกีฬาที่ต้องใช้แรงหรือการกระแทก
- ห้ามเดินเท้าเปล่าเพราะอาจเกิดบาดแผลจากการถูกทิ่มตำ
- หากมีปัญหาในการทรงตัวต้องมีผู้ช่วยเหลือในขณะที่เดิน
- งดการตัดเล็บ การโกนหนวดโดยการใช้ใบมีด ให้ใช้มีดโกนไฟฟ้าแทน
- หลีกเลี่ยงการใช้ของมีคมที่อาจเกิดอุบัติเหตุจากการทิ่มตำ เช่น กรรไกร มีด
- หลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูกหรือจามแรงๆ
- หลีกเลี่ยงภาวะท้องผูก ดื่มน้ำให้มากๆ
กรณีเกล็ดเลือดต่ำกว่า 20,000 เกล็ด/ไมโครลิตร
- ให้นอนพักบนเตียงและต้องทำกิจกรรมโดยมีผู้ดูแล และแพทย์อาจพิจารณาให้เกล็ดเลือดทดแทน
- งดแปรงฟัน
- ห้ามเบ่งอุจจาระ ไอหรือจามแรงๆ