อาการของภาวะซึมเศร้าหลังคลอด มีดังนี้
- รู้สึกเศร้า เสียใจ หมดหวัง
- อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด โกรธง่าย หรืออยู่ไม่สุข
- วิตกกังวลมากผิดปกติ
- มีปัญหาในการนอนหลับ เช่น นอนหลับมากผิดปกติ นอนไม่หลับ เป็นต้น
- ร้องไห้มากกว่าปกติ หรือร้องไห้อย่างไม่มีเหตุผล
- มีปัญหาเรื่องสมาธิ การจดจำรายละเอียด หรือการตัดสินใจ
- หมดความสนใจในสิ่งที่ชอบหรืองานอดิเรก
- รับประทานอาหารน้อยลง หรือรับประทานมากขึ้นอย่างผิดปกติ
- มีปัญหาสุขภาพโดยไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน เช่น ปวดศีรษะบ่อย ปวดกล้ามเนื้อ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินอาหาร เป็นต้น
- เก็บตัว หรือหลีกเลี่ยงการพบเจอเพื่อนและคนในครอบครัว
- มีปัญหาในการสร้างความผูกพันระหว่างแม่ลูก
- กังวลไปว่าตนเองไม่มีความสามารถในการดูแลลูกอยู่บ่อย ๆ
- มีความคิดทำร้ายร่างกายตัวเองหรือลูกน้อย
สาเหตุของภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดอาจเกิดขึ้นได้จากปัจจัยหลายอย่างรวมกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัจจัยที่คุณแม่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน สภาพแวดล้อม อารมณ์ หรือพันธุกรรม เป็นต้น นอกจากนี้ คุณแม่อาจมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมากขึ้น หากมีปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้
- มีประวัติป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ เคยมีภาวะซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์หรือหลังคลอดมาก่อนหน้านี้
- สมาชิกในครอบครัวป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หรือมีปัญหาในการควบคุมอารมณ์
- มีปัญหาที่ส่งผลให้เกิดความเครียดมากในช่วงปีที่ผ่านมา เช่น ภาวะแทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์ หรือมีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งภายในครอบครัว เป็นต้น
- ทารกมีปัญหาสุขภาพที่ต้องมีการดูแลหรือรับการรักษาอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ
- แม่มีปัญหาในการให้นมบุตร
***อาการของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดในผู้หญิงแต่ละคนแตกต่างกันไป หากสงสัยว่าตนเองอาจมีภาวะนี้ควรไปพบแพทย์ ***
การป้องกันภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
คุณแม่สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด โดยดูแลสุขภาพกายใจให้ดีอยู่เสมอ เพื่อช่วยรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและความเครียดที่อาจเกิดขึ้นหลังจากคลอดบุตร ดังนี้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาหรือสมุนไพรชนิดใดก็ตาม
- หาเวลาพักผ่อนระหว่างวันบ้าง โดยขอให้คุณพ่อหรือคนใกล้ชิดช่วยดูแลลูกในช่วงที่คุณแม่งีบหลับ -หากเคยเป็นโรคซึมเศร้าหรือมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมาก่อนควรปรึกษาแพทย์ก่อนวางแผนตั้งครรภ์หรือหากพบว่าตัวเองตั้งครรภ์ก็ควรรีบแจ้งแพทย์ทันที ซึ่งในระหว่างตั้งครรภ์ แพทย์จะติดตามอาการและสัญญาณของภาวะซึมเศร้าอย่างใกล้ชิด หากพบความผิดปกติแพทย์จะเริ่มทำการรักษาทันที เพื่อไม่ให้อาการรุนแรงขึ้น
- หลังจากคลอดบุตรแล้ว คุณแม่ที่คิดว่าตนเองมีภาวะนี้หรือเคยมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมาก่อนควรเข้ารับการตรวจสุขภาพหลังคลอดแต่เนิ่น ๆ เพื่อประเมินอาการและสัญญาณของภาวะซึมเศร้าหลังคลอด เพราะยิ่งตรวจพบและเข้ารับการรักษาเร็วเท่าใดก็ยิ่งส่งผลดีมากขึ้นเท่านั้น