การคลอดธรรมชาติ คือ การคลอดทารกผ่านทางช่องคลอด ซึ่งเป็นวิธีที่องค์การอนามัยโลกแนะนำเนื่องจากมีความปลอดภัยต่อแม่และลูกมาก และมีภาวะแทรกซ้อนน้อย วิธีนี้เหมาะสำหรับคุณแม่ที่มีสุขภาพแข็งแรง ร่างกายมีความพร้อม เช่น อุ้งเชิงกรานกว้าง ทารกอยู่ในท่ากลับหัวแล้ว ทารกตัวไม่ใหญ่มากจนเสี่ยงภาวะคลอดติดไหล่ (Shoulder Dystocia)
การผ่าคลอด หรือการผ่าตัดคลอด (Cesarean Section หรือ C-Section)คือ การผ่าตัดเปิดหน้าท้องและมดลูกเพื่อนำทารกออกจากถุงน้ำคร่ำ เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับคุณแม่ที่มีข้อบ่งชี้ทางสุขภาพที่ตรวจพบมาก่อน เช่น ภาวะรกเกาะต่ำ ครรภ์เป็นพิษ อุ้งเชิงกรานแคบ ทารกไม่กลับหัว หรือมีความจำเป็นต้องคลอดเร่งด่วน เพื่อช่วยชีวิตแม่และทารกไว้ก่อน เช่น การคลอดก่อนกำหนด คลอดธรรมชาติแล้วยังไม่สามารถคลอดได้สำเร็จ ที่เรียกว่า “ภาวะคลอดเนิ่นนาน”
เปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียของคลอดธรรมชาติและผ่าคลอด
ค่าใช้จ่าย
- คลอดธรรมชาติ ค่าใช้จ่ายไม่สูง
- ผ่าคลอด ค่าใช้จ่ายสูง
กำหนดเวลาคลอดและระยะเวลาในการคลอด
- คลอดธรรมชาติ กำหนดวันเวลาได้ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับความพร้อมของร่างกายแม่ เช่นปากช่องคลอดเปิดกว้างมากพอหรือยัง ด้วยเหตุนี้จึงใช้ระยะเวลาในการคลอดนาน
- ผ่าคลอด กำหนดวันเวลาได้แน่นอน หรือฤกษ์ยามในการลืมตาดูโลกของลูกได้ ทำให้สามารถวางแผนเตรียมการต่างๆ ได้ง่ายขึ้น และใช้เวลาในการคลอดเพียง 45-1 ชั่วโมง
ความเสี่ยงและโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างคลอด
- คลอดธรรมชาติ ไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด
- ผ่าคลอด การผ่าตัดมีโอกาสพลาดลงมีดไปโดนอวัยวะอื่นที่อยู่ข้างเคียง มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการดมยาสลบ การระงับความรู้สึกและภาวะจากการผ่าตัดได้ เช่น ลิ่มเลือดอุดตัน
ผลกระทบต่อสุขภาพทารก
- คลอดธรรมชาติ ลูกจะได้รับจุลินทรีย์สุขภาพที่อยู่ในช่องคลอดของแม่ผ่านทางปากสู่ลำไส้ซึ่งจะช่วยกระตุ้นภูมิต้านทานโรค ช่วยลดโอกาสการเป็นโรคหอบหืด ภูมิแพ้ได้ นอกจากนี้การคลอดธรรมชาติยังช่วยรีดของเหลวออกจากปอดของทารก จึงไม่เกิดปัญหาเกี่ยวกับการหายใจตามมา เช่น การหายใจเร็ว เหนื่อยหอบ
- ผ่าคลอด ลูกจะไม่ได้รับจุลินทรีย์สุขภาพที่อยู่ในช่องคลอดของแม่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคภูมิแพ้ และเจ็บป่วยได้ง่าย รวมทั้งทารกยังมีโอกาสขาดออกซิเจน ตัวเขียวได้
การฟื้นตัวหลังคลอด
- คลอดธรรมชาติ เสียเลือดน้อย คุณแม่จึงอ่อนเพลียไม่มาก ไม่เหนื่อยจนเกินไป ร่างกายฟื้นตัวได้เร็ว
- ผ่าคลอด เสียเลือดมากเป็นสองเท่าของการคลอดธรรมชาติ จึงอ่อนเพลียมากกว่าและต้องอาศัยระยะเวลาในการฟื้นตัว
ความพร้อมในการให้นม
- คลอดธรรมชาติ หากแม่ไม่มีภาวะสุขภาพใดๆ สามารถให้นมทารกได้ทันทีภายใน 30 นาทีหลังคลอด ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการกระตุ้มต่อมน้ำนมแม่ให้เริ่มทำงาน
- ผ่าคลอด แม่ต้องได้รับการพักฟื้นดีก่อนจึงสามารถให้นมลูกได้
การดูแลแผล
- คลอดธรรมชาติ บาดแผลที่เกิดขึ้นจากการคลอดบริเวณฝีเย็บจะมีขนาดเล็กจึงสมานตัวได้เร็ว และมีโอกาสติดเชื้อน้อยมาก
- ผ่าคลอด มีบาดแผลขนาดใหญ่ที่หน้าท้องและมดลูก หลังคลอดจำเป็นต้องดูแลแผลอย่างดี ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการอักเสบ ติดเชื้อ แผลปริ แผลแยก รวมทั้งต้องดูแลแผลเป้นที่หน้าท้องด้วย
ความเสี่ยงในคลอดครั้งต่อๆ ไป
- คลอดธรรมชาติ ลดโอกาสการเกิดรกเกาะต่ำ รกติดแน่น ในการตั้งครรภ์ครั้งต่อๆ ไปได้
- ผ่าคลอด หากเป็นการผ่าตัดคลอดที่มากกว่า 2 ครั้งขึ้นไปมีโอกาสจะมีพังผืดในช่องท้องค่อนข้างมาก และการผ่าตัดในครั้งต่อไปจะยากขึ้นด้วย รวมทั้งมีโอกาสเกิดภาวะรกเกาะต่ำ รกเกาะติดแน่น และหากเจ็บท้องคลอดมากๆ มดลูกแตกมีโอกาสแตกได้มากขึ้น