หน้าหลัก

มะเร็งหลังโพรงจมูก

มะเร็งหลังโพรงจมูก เป็นหนึ่งในมะเร็งบริเวณศีรษะและคอที่พบบ่อยในประเทศไทย พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ประมาณ 2.5 เท่า ผู้ป่วยรายใหม่ เฉลี่ยวันละ 4 คน เสียชีวิต เฉลี่ยวันละ 2 คน ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมีหลายปัจจัย ได้แก่ การรับประทานอาหารประเภทหมักดอง อาหารที่มีสารไนโตรซามีน เป็นประจำ การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การติดเชื้อเรื้อรังของไวรัส Epstein-Barr Virus (EBV) ความเสี่ยงทางพันธุกรรม เช่นเชื้อชาติจีน และประชากรในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น

มะเร็งหลังโพรงจมูก (Nasopharyngeal carcinoma: NPC) เป็นการเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติหรือมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับเซลล์ ความเปลี่ยนแปลงนี้จะก่อให้เกิดเนื้อร้ายที่สามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ ซึ่งมะเร็งหลังโพรงจมูกจะเกิดบริเวณหลังโพรงจมูก โดยโพรงจมูกจะมีลักษณะเป็นโพรงกว้าง อยู่ทางด้านหลังของจมูก เป็นทางผ่านของอากาศไปยังผนังคอ ตำแหน่งนี้จะมีสารบางอย่างไหลผ่านเข้าไปได้ง่าย เช่น ควันบุหรี่ ควันพิษต่างๆ หรือสารที่เกิดจากการเผาไหม้และอาจเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้เกิดการระคายเคืองบริเวณหลังโพรงจมูกได้ง่าย

อาการ

  • คัดจมูก น้ำมูกไหลเรื้อรัง
  • มีเลือดกำเดาไหล หูอื้อ
  • ชาบริเวณใบหน้า
  • ปวดหัว
  • ก้อนที่คอ

ปัจจัยเสี่ยง

  • การรับประทานอาหารประเภทหมักดอง
  • การสูบบุหรี่
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • การติดเชื้อไวรัส
  • พันธุกรรม

การป้องกัน

  • รับประทานผักและผลไม้สดเป็นประจำ
  • งดสูบบุหรี่
  • งดดื่มแอลกอฮอล์

แนวทางการรักษาโรคมะเร็งหลังโพรงจมูกมีดังนี้

  • การฉายรังสี เนื่องจากบริเวณหลังโพรงจมูกเป็นตำแหน่งที่ยากต่อการผ่าตัด ดังนั้น การรักษาหลักๆ จึงเป็นการฉายรังสี โดยการฉายรังสีเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งหลังโพรงจมูก ระยะที่ 1 พบผลการรักษาที่น่าพอใจ เพราะช่วยควบคุมโรคเฉพาะที่ได้กว่า 90% นั่นหมายความว่ามีโอกาสตัดเซลล์มะเร็งทิ้งไปได้เกือบทั้งหมด
  • การฉายรังสีร่วมกับเคมีบำบัด สำหรับกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็งหลังโพรงจมูกในระยะที่ 2 ขึ้นไป แพทย์อาจต้องใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายรังสีควบคู่กันเพื่อประสิทธิภาพการรักษาที่ดีขึ้น
  • การผ่าตัด ในกรณีที่สามารถควบคุมเซลล์มะเร็งหลังโพรงจมูกได้แล้ว แต่ยังคงมีก้อนที่คออยู่ หรือในกรณีที่ผู้ป่วยมีมะเร็งเกิดซ้ำหรือหลงเหลือเซลล์มะเร็งในบริเวณที่จำกัด กรณีแบบนี้จะสามารถทำการผ่าตัดรักษาได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละราย รวมไปถึงการวินิจฉัยและการพิจารณาแนวทางการรักษาจากแพทย์ด้วย