อาการหรือโรคไตวาย แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่
-
ไตวายเฉียบพลัน คือภาวะที่ไตสูญเสียการทำงานอย่างรวดเร็ว โดยเกิดจากสาเหตุต่างๆ เช่น ติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง เป็นโรคในระบบทางเดินปัสสาวะ การได้รับสารพิษ ผลข้างเคียงจากยา การรับประทานยาเกินขนาด รวมถึงผู้ป่วยอาการหนักจากโรคต่างๆ โดยที่ผู้ป่วยจะมีอาการแสดงตั้งแต่เริ่มแรกทั้งๆ ที่ไตยังไม่เสื่อม เช่น ผู้ป่วยจะมีอาการบวม ปัสสาวะเป็นสีน้ำล้างเนื้อ ตรวจปัสสาวะพบเม็ดโลหิตแดงและโปรตีนไข่ขาวปนออกมาด้วย และมีความดันโลหิตสูงผิดปกติ แม้ภาวะไตวายเฉียบพลันจะมีอันตรายถึงชีวิตได้ แต่หากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็มีโอกาสที่ไตจะฟื้นกลับมาเป็นปกติได้
-
ไตวายเรื้อรัง คือ ภาวะที่ไตเริ่มค่อยๆ สูญเสียการทำงานทีละน้อยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความสามารถในการทำงานของไตลดลง ซึ่งสาเหตุหลักๆ ของความเสื่อม คือ การเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน รวมถึงสภาวะอื่นๆ เช่น ไตอักเสบ โรคถุงน้ำในไต โรคไตที่เกิดจากเก๊าต์ เป็นต้น ข้อสังเกตคือ ในระยะแรกผู้ป่วยจะไม่แสดงอาการผิดปกติออกมาให้เห็น ถ้าหากมาตรวจร่างกาย แพทย์จะไม่พบความผิดปกติใดๆ ทั้งสิ้น ยกเว้นกรณีถ้าตรวจปัสสาวะแล้วพบว่ามีเม็ดเลือดแดงและโปรตีนไข่ขาวปนออกมาในปัสสาวะด้วย หากไม่ได้รับการรักษาอาการก็จะค่อยๆ ลุกลาม จนในที่สุดการทำงานของไตจะเหลือเพียงร้อยละ 25 หรือ 1 ใน 4 ของปกติ ถึงตอนนั้นผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการโรคไตแสดงออกมาให้เห็นบ้าง และถ้าการทำงานของไตเสื่อมลงเหลือต่ำกว่าร้อยละ 10 ของปกติ ผู้ป่วยจะมีอาการแสดงออกมาชัดเจนทุกราย โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักตรวจพบโรคเมื่อประสิทธิภาพการทำงานของไตลดลงไปมาก และนำไปสู่ภาวะไตวายที่ไม่สามารถรักษาให้ไตกลับมาทำงานเป็นปกติได้อีกต่อไป
การตรวจวินิจฉัยอาการไตวาย
- ตรวจปัสสาวะ ถ้ามีภาวะผิดปกติของไต ปัสสาวะจะมีโปรตีนและเม็ดเลือดแดงปนมากับปัสสาวะ
- ตรวจเลือด ถ้ามีภาวะผิดปกติของไต ปริมาณไนโตรเจน กรดยูริก (Blood Nitrogen Urea, BUN) และ ครีเอตินิน (Creatinine, Cr) ที่เป็นของเสียจากกล้ามเนื้อจะตกค้างในเลือดสูงกว่าปกติ แพทย์จะนำผลเลือดที่ได้นี้มาใช้ในการประเมินค่าการทำงานของไตหรือ GFR (glomerular filtration rate) ในลำดับต่อไป
- การตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound) และ การเอกซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์ (CT scan) ถ้ามีความผิดปกติของไตและระบบทางเดินปัสสาวะ แพทย์จะสามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนร่วมกับการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ
โรคไตเรื้อรังเกิดได้กับทุกเพศ ทุกวัย จึงควรได้รับการตรวจในทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง ดังนี้
ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเก๊าต์ ภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน ผู้ที่สูบบุหรี่ประจำ หรือมีประวัติสูบบุหรี่มานาน ผู้ได้รับยาสมุนไพร หรือสารพิษที่มีผลทำลายไตเป็นประจำ ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคไตเรื้อรัง ผู้ที่มีอาการ ได้แก่ ใบหน้า ตัว หรือเท้าบวม ปวดหลัง ปวดเอว ปัสสาวะบ่อย แสบขัด มีเลือดปน หรือมีฟองผิดปกติ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ตรวจพบความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง และอายุเกิน 40 ปี ผู้ที่เคยมีประวัติเป็นนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ
ที่มาเพจ โรงพยาบาลพญาไท