ภาวะตัวเหลือง (Jaundice) เกิดจากการที่ร่างกายมีสารสีเหลืองที่เรียกว่า บิลิรูบิน (Bilirubin) ในกระแสเลือดมากกว่าปกติ บิลิรูบินเกิดจากการสลายตัวของเม็ดเลือดแดงผ่านกระบวนการที่ตับและขับออกจากร่างกายผ่านทางอุจจาระและปัสสาวะ โดยทั่วไปทารกจะมีอาการตัวเหลืองในวันที่ 2 – 3 หลังคลอด ซึ่งส่วนใหญ่แพทย์จะมองเห็นว่าเด็กตัวเหลือง และพิจารณาส่งตรวจค่าบิลิรูบินเพื่อดูระดับความเหลืองและให้การรักษาต่อไป
สาเหตุที่ทำให้เด็กตัวเหลืองผิดปกติ คือ
1.ทารกที่คลอดโดยใช้เครื่องดูดช่วยคลอด จะทำให้มีเลือดออกที่ใต้หนังศรีษะ มีเลือดคั่งเฉพาะส่วน เพิ่มโอกาสให้การแตกตัวของเม็ดเลือดสูงขึ้น 2.ภาวะกรุ๊ปเลือดไม่เข้ากันมักพบในคู่ที่แม่มีหมู่เลือด O ส่วนลูกเป็น A หรือ B และคู่ที่แม่มีเลือดหมู่ Rh- กับลูกที่มีเลือดหมู่ Rh+ 3.เป็นโรคเลือด เช่น โรคธาลัสซีเมีย หรือโรคขาดเอนไซน์ G6PD ซึ่งทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายกว่าปกติ 4.การทำงานของตับยังไม่สมบูรณ์ทำให้สารบิลิรูบินไม่ถูกขับ หรือขับช้ากว่าปกติ 5.ความผิดปกติที่ลำไส้ อย่างเช่น เกิดภาวะลำไส้อุดตัน ทำให้บิลิรูบินไม่ถูกขับออกไป แต่กลับถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดแทน
วิธีการรักษาภาวะตัวเหลือง
หลังคลอดควรให้ทารกกินนมแม่ให้บ่อยที่สุด ประมาณ 10-12 ครั้งต่อวัน จะช่วยให้ลำไส้ทำงานได้ดี ทารกจะขับถ่ายบ่อย ซึ่งเป็นการขับสารบิลิรูบินตามธรรมชาติ ช่วยให้สีผิวกลับมาปกติเร็วที่สุด แต่ในกรณีที่ค่าบิลิรูบินสูงเกิน 10 จะต้องทำการรักษาโดยใช้เครื่องมือแพทย์
-
ถ้าค่าบิลิรูบินต่ำกว่า 20 จะรักษาโดยการส่องไฟ วิธีนี้จะช่วยเปลี่ยนโมเลกุลบิลิรูบินให้กลายเป็นสารที่ละลายน้ำได้ และจะถูกขับผ่านทางน้ำดี ถ่ายเป็นปัสสาวะ และอุจจาระ
-
ถ้าค่าบิลิรูบินสูงกว่า 20 อาจจะต้องรักษาโดยการเปลี่ยนถ่ายเลือด เพื่อนำเลือดที่มีบิลิรูบินสูงออก แล้วให้เลือดที่มีค่าปกติเข้าไปแทน
โดยสรุป ภาวะเหลืองในทารกแรกเกิดพบได้บ่อย และมักไม่เป็นอันตรายรุนแรง คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตบ่อยๆหลังทารกกลับบ้านและเมื่อสังเกตว่าทารกมีสารเหลืองเพิ่มขึ้น ควรมาพบกุมารแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาต่อไป