หน้าหลัก

โรคติดเชื้อเอชพีวี ( HPV )

ไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) คือ ไวรัสฮิวแมนแพพพิลโลมา (Human papillomavirus) เป็นสาเหตุของโรคหลายชนิด หากผู้ชายติดเชื้อ HPV จะเป็นตัวการสำคัญที่​ทำให้​เกิดมะเร็งในช่องปาก โรคหูดหงอนไก่ มะเร็งทวารหนักได้ ซึ่งในปัจจุบัน โรคดังกล่าวยังไม่มียาที่สามารถรักษาได้หายขาด แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV

โรคติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ( human papilloma virus ) หรือ โรค HPV คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ที่สามารถกระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็งในระบบสืบพันธ์ได้ พบบ่อยในเพศหญิง จัดอยู่ในกลุ่มโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่สามารถติดต่อได้หลายช่องทางไม่ว่าจะเป็นทางปากช่องคลอด ทวารหนัก หรือ การสัมผัสเชื้อโดยตรง

มีมากกว่า 150 สายพันธุ์ย่อย ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการติดเชื้อที่เยื่อบุผิว อีกทั้งเชื้อไวรัส HPV บางสายพันธุ์อาจเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งปากมดลูก (สายพันธุ์ 16 และ 18) มะเร็งร้ายที่คร่าชีวิตผู้หญิงไทยเป็นจำนวนมาก และยังมีอัตราการเพิ่มขึ้นทุกปี เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในที่สุด

อาการ HPV

ผู้ติดเชื้อ HPV โดยส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการเมื่อติด เชื้อ HPV การแสดงอาการของโรคอาจเกิดขึ้นหลายปีหลังจากติดเชื้อและสามารถแพร่เชื้อไปยังคนอื่นได้ สำหรับอาการและอาการแสดงของการติดเชื้อไวรัส HPV ที่ตรวจพบจะมีดังนี้

  1. มีหูดหงอนไก่ ( Condyloma Accuminate ) เป็นตุ่มเล็กๆ ผิวไม่เรียบหลายๆ ตุ่มกระจายตามอวัยวะเพศภายนอก มีอาการคันได้ สามารถพบได้ทั้งปากช่องคลอด ปากมดลูกลักษณะของหูด หูดชนิดทั่วไป จะมีรูปร่างเป็นตุ่มเล็กๆ เจ็บปวดบ้างในบางครั้ง และหากสัมผัสจะรูสึกผิวของหูดนั้นมีความขรุขระ มีได้หลายสี พบได้ที่บริเวณตามมือ นิ้วมือ หรือข้อศอก ซึ่งหูดลักษณะเช่นนี้ส่วนใหญ่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายนอกจากนี้ยังมีหูดชนิดอื่นๆ เช่น หูดชนิดแบนราบเกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของร่างกาย หูดฝ่าเท้า มักขึ้นบริเวณส้นเท้า ให้รู้สึกเจ็บในระหว่างยืนหรือเดิน แต่หูดที่สร้างความทุกข์ใจกับผู้ป่วยมาที่สุดคือ หูดที่อวัยวะเพศ หรือเรียกว่า หูดหงอนไก่เป็นติ่งเนื้อลักษณะคล้ายดอกกะหล่ำ มักเกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศหญิง อวัยวะเพศชาย และทวารหนัก ส่วนใหญ่ไม่มีอาการเจ็บ แต่อาจทำให้รู้สึกคัน

  2. มีอาการตกขาวมากกว่าปกติ อาจมีเลือดปนตกขาว ตกขาวมีกลิ่นเหม็น หรือมีเลือดออกกระปริดกระปรอยจากช่องคลอด หากติดเชื้อที่ทวารหนัก ก็จะมีแผลหรือก้อนยื่นออกมาผิดปกติอาการติดเชื้อในระยะแรกทั้ง 2 แบบนี้ จะเป็นๆ หายๆ แต่ก็มีบ่อยครั้งที่ผู้หญิงบางรายได้รับเชื้อ HPV เข้าสู่ร่างกายแต่ไม่แสดงอาการและเชื้อก็จะหายไปเอง หรือหากร่างกายอ่อนแอก็อาจก่อให้เกิดความผิดปกติภายหลัง

วิธีรักษาโรค HVP

ปัจจุบันยังไม่มียารักษาเชื้อไวรัส HPV ให้หายขาด เราเพียงแต่พยายามรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทานต่อเชื้อโรค การติดเชื้อจะหายไปได้เองโดยใช้เวลาประมาณ 2 ปี แต่สำหรับคนที่ติดเชื้อแล้วร่างกายอ่อนแอ เชื้อ HPV จะพัฒนาไปเป็นเซลล์มะเร็งซึ่งใช้เวลานานพอสมควร ประมาณ 10- 15 ปี มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ที่เชื้อฝังแน่นในร่างกายเป็นเวลานาน

การรักษา HPV ที่สามารถทำได้ในปัจจุบัน คือ การตรวจวินิจฉัยยืนยันเพื่อหาเชื้อ HPV และแนะนำให้ผู้หญิงทุกคนที่แต่งงานหรือมีเพศสัมพันธ์แล้วควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ ยกเว้นผู้หญิงอายุน้อยกว่า 30 และไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคก็อาจไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อนี้ แต่ผู้หญิงที่อายุมากกว่า 30 และมีความเสี่ยงแนะนำว่าควรจะต้องเข้ารับการตรวจประจำปี ส่วนเพศชายก็มีโอกาสที่จะเกิดโรคเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะชายรักร่วมเพศ อาจจะเกิดการติดเชื้อและแสดงอาการที่อวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือ องคชาติ จนกระตุ้นให้เกิดมะเร็งได้เช่นเดียวกัน

การป้องกันโรค HPV

การป้องกันโรค HPV ที่ดีที่สุด คือ การรักษาสุขภาพให้แข็งแรง การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย คือ การรักษาความสะอาดของอวัยวะสืบพันธ์โดยเฉพาะเพศชายควรจะทำความสะอาดหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศอย่างสม่ำเสมอ เพราะเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการติดเชื้อได้ ส่วนเพศหญิงที่ติดเชื้อก็ควรรักษาให้หายก่อนมีเพศสัมพันธ์ หรือ หากไม่มั่นใจให้สวมถุงยางอนามัยก่อนมีเพศสัมพันธ์ทั้งคู่จะเป็นการดีที่สุด

โรคมะเร็งปากมดลูกที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ( human papilloma virus) หรือ โรค HPV นั้น ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่มีเชื้อ แต่ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการเจ็บป่วยหลังติดเชื้อ และทำให้สุขภาพและร่างกายอ่อนแอได้แก่ การสูบบุหรี่ การรับประทานยาคุมกำเนิดต่อเนื่อง เป็นระยะเวลานาน รวมถึงผู้หญิงที่ตั้งครรภ์มากกว่า 3 ครั้ง และปัจจุบันการป้องกันที่สามารถทำได้ เพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยและสูญเสีย คือ การฉีดวัคซีนป้องกันโรค HPV

การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อเอชพีวี ควรได้รับวัคซีนตั้งแต่ยังไม่มีการติดเชื้อ ก่อนการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก หรือก่อนแต่งงาน วัคซีนสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป โดยวัคซีนจะเริ่มป้องกันการติดเชื้อหลังฉีด 1 เดือนเป็นต้นไป การฉีดวัคซีนต้องฉีดให้ครบ 3 เข็ม ซึ่งองค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO ) ให้ข้อมูลว่า ควรจะฉีดวัคซีนนี้ ในอายุช่วง 9-14 ปี เนื่องจากเป็นวัยที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้อย่างเต็มที่ต่อไป