หน้าหลัก

ต้อกระจก

ต้อกระจก หรือ Cataract คือ ภาวะที่เลนส์ภายในลูกตาขุ่น ส่งผลให้เกิดอาการตามัว และมีการมองเห็นไม่ปกติ เช่น มองเห็นภาพเบลอ สีเพี้ยน หรือคล้ายกับหมอกบังตาตลอดเวลา โดยต้อกระจกนั้นมักพบในผู้ที่มีอายุ 40-50 ปีขึ้นไป อาจเกิดได้กับตาทั้ง 2 ข้าง หรือข้างเดียวก็ได้

ต้อกระจก หรือ Cataract เป็นภาวะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดการขุ่นของ “เลนส์ตา” ปกติเลนส์ตาจะมีลักษณะใส ทำหน้าที่ช่วยในการรวมแสงให้ตกลงบนจอประสาทตาพอดี เมื่อเกิดต้อกระจก ทำให้แสงไม่สามารถเข้าไปในตาได้ตามปกติ ทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจนหรือมีอาการตามัว พบบ่อยในผู้สูงอายุ

สาเหตุของต้อกระจก

ต้อกระจกเกิดจากความเสื่อมของโปรตีน ซึ่งเป็นองค์ประกอบของเลนส์ตา ทำให้เลนส์ตาขุ่นและแข็งขึ้น มักพบมากในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป สาเหตุหลักคือ เป็นความเสื่อมตามวัย โดยสัมพันธ์กับอายุที่เพิ่มขึ้น แต่อาจพบได้กลุ่มอายุน้อยได้เช่นกัน เช่น ความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดจากมารดาที่ติดเชื้อหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์

สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดต้อกระจก

  • การได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตเป็นเวลานาน ๆ
  • มีโรคประจำตัวที่ส่งเสริมให้เกิดต้อกระจกได้ เช่น เบาหวาน ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ
  • โรคทางตา เช่น ม่านตาอักเสบ ตาติดเชื้อ สายตาสั้นมาก ๆ เคยผ่าตัดตามาก่อน เช่น หลังผ่าตัดจอตา
  • ใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นเวลานาน
  • เคยมีอุบัติเหตุที่ดวงตาหรือดวงตาได้รับการกระทบกระเทือนบ่อย ๆ
  • การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์
  • เคยโดนฉายรังสีในส่วนบนของร่างกาย ศีรษะ

อาการของต้อกระจก

  • มองไม่ชัดอย่างช้า ๆ ไม่มีการอักเสบหรือปวด มองเห็นมัวเหมือนมีฝ้าหรือหมอกบัง มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระดับและตำแหน่งของความขุ่นในเนื้อเลนส์
  • ภาพซ้อน สายตาพร่า เกิดจากความขุ่นของเลนส์แก้วตาไม่เท่ากัน การหักเหของแสงไปที่จอประสาทตาจึงไม่รวมเป็นจุดเดียว ในผู้ป่วยบางรายจะมีสายตาสั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ต้องเปลี่ยนแว่นตาบ่อย ๆ บางรายสายตาสั้นขึ้นจนกลับมาอ่านหนังสือได้โดยไม่ต้องใส่แว่น
  • สู้แสงสว่างไม่ได้ มองเห็นแสงไฟกระจาย โดยเฉพาะขณะขับรถในตอนกลางคืน
  • มองเห็นสีต่าง ๆ ผิดเพี้ยนไปจากเดิม ต้องการแสงสว่างมากขึ้นในการมอง
  • เมื่อต้อกระจกสุก อาจสังเกตเห็นเป็นสีขาวตรงรูม่านตา ซึ่งปกติเห็นเป็นสีดำ หากละเลยทิ้งไว้จนต้อกระจกสุกเกินไป อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น โรคต้อหิน การอักเสบภายในตา ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดตา ตาแดง และอาจถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นได้

การรักษาต้อกระจก

ต้อกระจกนั้นรักษาได้ด้วยวิธีการรักษาแบบไม่ผ่าตัด และแบบผ่าตัด ซึ่งผู้ป่วยต้อกระจกจะเข้ารับการรักษาแบบไหนนั้นขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยและดุลยพินิจของจักษุแพทย์ โดยวิธีการรักษาทั้ง 2 แบบนั้นมีรายละเอียด และความแตกต่างกัน ดังนี้

1.รักษาแบบไม่ผ่าตัด

การรักษาต้อกระจกโดยไม่ต้องผ่าตัด เป็นวิธีการรักษาที่เหมาะกับผู้ป่วยต้อกระจกในระยะแรก ๆ เท่านั้น ซึ่งเป็นการรักษาด้วยการตัดแว่นสายตาใหม่ หรือสวมใส่แว่นกันแดด เพื่อป้องกันแสงสะท้อน โดยวิธีเหล่านี้ช่วยชะลออาการได้ชั่วคราวเท่านั้น อีกทั้งผู้ป่วยควรปรึกษาจักษุแพทย์ก่อนเลือกใช้ยาหยอดตา เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ป่วยด้วยเช่นกัน

2.รักษาแบบผ่าตัด การผ่าตัดต้อกระจก หรือ Cataract Surgery คือ วิธีการรักษาต้อกระจกแบบผ่าตัดด้วยการผ่าตัดนำเลนส์แก้วตาที่มีความขุ่นออก และนำแก้วตาเทียมใส่เข้าไปแทนที่ เพราะว่าเป็นระดับที่ต้อกระจกส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรืออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาในอนาคตได้

ประเภทของการผ่าตัด

ประเภทของการผ่าตัดต้อกระจกในปัจจุบันนั้นมีหลากหลายประเภทเป็นอย่างมาก แต่ประเภทของการผ่าตัดที่นิยมใช้มีทั้งหมด 3 ประเภท ดังนี้

1.ผ่าตัดลอกต้อกระจก (ICCE: Intracapsular Cataract Extraction) การผ่าตัดลอกต้อกระจก เป็นวิธีการผ่าตัดนำเลนส์ตา และถุงหุ้มเลนส์ออกทั้งหมด พร้อมกับลอกแก้วตาทั้งแคปซูล และเนื้อในแก้วตาออกด้วยการใช้ Freezing Probe ซึ่งการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ส่งผลต่อความสามารถในการมองเห็นได้ เนื่องจากการวางเลนส์นั้นทำได้ยาก นอกจากนี้แผลจากการผ่าตัดด้วยวิธีนี้จะมีขนาดใหญ่ และใช้เวลาในการฟื้นตัวพอสมควร

2.การผ่าตัดต้อกระจกแผลใหญ่ (ECCE: Extracapsular Extraction) การผ่าตัดต้อกระจกแผลใหญ่ เป็นวิธีการผ่าตัดนำเอาแก้วตาออก และเหลือแต่เปลือกหุ้มแก้วตาด้านหลังไว้ โดยวิธีการผ่าตัดแบบแผลใหญ่นั้น ต้องเย็บแผลปิดหลายเข็ม ทำให้เกิดสายตาเอียงจากไหมเย็บดึงกระจกตาใช้เวลาพักฟื้นนาน และอาจเกิดพังผืดบริเวณส่วนบนตาขาว

3.การสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Phacoemulsification) การสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เป็นวิธีการผ่าตัดต้อกระจกด้วยการใช้คลื่นเสียง หรืออัลตราซาวด์ที่มีความถี่สูงเข้าไปสลายเนื้อแก้วตา และดูดแก้วตาที่สลายออกมา แล้วจึงนำแก้วตาเทียมใส่เข้าไปแทนที่ โดยการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ส่งผลให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก โอกาสสายตาเอียงหลังจากผ่าตัดมีน้อย และใช้เวลาพักฟื้นเร็วขึ้น แต่การผ่าตัดนี้ต้องดำเนินการโดยแพทย์ที่มีความชำนาญสูง และอาจมีค่าใช้จ่ายแพงกว่าวิธีอื่น ๆ

วิธีป้องกันต้อกระจก

สำหรับวิธีป้องกันการเกิดต้อกระจกนั้นยังไม่มีวิธีที่สามารถป้องกันได้ 100% เพราะเป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของแก้วตาตามช่วงอายุ แต่ว่าวิธีที่สามารถชะลอการเกิดต้อกระจกได้นั้น มีดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการเผชิญกับแสงแดดโดยตรง ถ้าหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้สวมใส่แว่นกันแดด หรือหมวก เพื่อป้องกันดวงตาจากรังสีอัลตราไวโอเลต
  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่กระตุ้นให้เกิดต้อกระจกเร็วขึ้น เช่น การสูบบุหรี่ หรือการดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้สายตาเป็นระยะเวลานาน และควรพักสายตาเป็นระยะ
  • ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปควรเข้ารับการตรวจสายตาเป็นประจำทุกปี
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และช่วยบำรุงสายตา โดยเฉพาะอาหารที่มีวิตามิน A C และ E เช่น ไข่ นม เนื้อสัตว์ แครอท ฟักทอง มะเขือเทศ และมะละกอสุก เป็นต้น