หน้าหลัก

มะเร็งเต้านม ภัยร้ายของผู้หญิง

เต้านม อวัยวะที่แสดงถึงลักษณะทางเพศหญิงอย่างหนึ่ง ประกอบไปด้วยต่อมน้ำนม ท่อน้ำนม ไขมัน เส้นเลือด ต่อมน้ำเหลือง เต้านมวางอยู่บนกล้ามเนื้อหน้าอกและซี่โครง มีหน้าที่ในการสร้างน้ำนม โดยเต้านมจะขยายขนาดตอบสนองกับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ซึ่งผลิตจากรังไข่เป็นหลัก

มะเร็งเต้านม เกิดเนื่องการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์ท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนมทำให้เกิดเป็นก้อนเนื้องอก โดยหากไม่ได้รับการรักษา มะเร็งจะโตขึ้นและกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ก่อนที่จะกระจายไปอวัยวะอื่นๆ เช่น ปอด ตับ สมอง กระดูก จนเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิต สำหรับประเทศไทยนั้นข้อมูลจาก Globocan ปี 2020 มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยมากที่สุดในเพศหญิง (22.8%) ตามมาด้วยมะเร็งลำไส้ (10.7%) และมะเร็งปากมดลูก (9.4%)

ปัจจัยเสี่ยง

  • เพศหญิง (มีโอกาสพบในเพศชายเพียง 1% ของมะเร็งเต้านมทั้งหมด)
  • อายุที่มากขึ้น (เริ่มพบได้บ่อยตั้งแต่อายุ 40-50 ปี)
  • ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่กินยาฮอร์โมนทดแทน
  • การมีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ เนื่องจากอาจสัมพันธ์กับมะเร็งเต้านมชนิดที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม

อาการของมะเร็งเต้านม

  • คลำพบก้อนที่เต้านม (90%)
  • ความผิดปกติของหัวนม ได้แก่ มีการดึงรั้งจนหัวนมบุ๋มลง มีน้ำเหลือง/เลือดออกทางหัวนม
  • คลำพบต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ (5-10%)

ระยะของโรคมะเร็งเต้านม

ระยะที่ 1: ก้อนมะเร็งเต้านมขนาดไม่เกิน 2 cm และยังไม่มีการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้

ระยะที่ 2: ก้อนมะเร็งเต้านม 2-5 cm หรือมีการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้

ระยะที่ 3: ก้อนมะเร็งที่ลุกลามมาถึงผนังหน้าอก หรือมีการแตกเป็นแผล หรือมีการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ขนาดใหญ่

ระยะที่ 4: มีการกระจายของมะเร็งออกไปนอกเต้านมและต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงแล้ว ได้แก่ การกระจายไป ปอด ตับ สมอง กระดูก

การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม

เนื่องจากมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยในเพศหญิง และเป็นหนึ่งในมะเร็งไม่กี่ชนิดที่สามารถตรวจคลำได้ด้วยมือจากภายนอก ข้อมูลในปัจจุบันพบว่าการตรวจพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะต้นสามารถเพิ่มโอกาสในการรักษาหายขาดได้ กล่าวคือหากได้รับการรักษาที่เหมาะสม โอกาสรอดชีวิตที่ 5 ปีของมะเร็งเต้านมระยะที่ 1 และ 2 สูงถึง 98% และ 88% ตามลำดับ ตามแนวทางของสถาบันมะเร็งแห่งชาติแนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ดังนี้

1.การตรวจเต้านมด้วยตัวเอง: ควรคลำเต้านมทุกเดือนตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือ หลังหมดประจำเดือน 2-3 วัน เนื่องจากจะคัดเต้านมน้อย

2.การตรวจเต้านมโดยแพทย์: แนะนำให้ตรวจปีละ 1 ครั้งในผู้ป่วยที่อายุ 40 ปีขึ้นไป 3.การถ่ายภาพเอ็กเรย์เต้านม (Mammography) เป็นการตรวจที่มีความไวมากกว่าการคลำ สามารถตรวจพบก้อนมะเร็งขนาดเล็กๆได้ อาจทำร่วมกับการตรวจอัลตร้าซาวด์ (ultrasonography) ในคนไข้ที่เนื้อเต้านมค่อนข้างแน่น แนะนำให้เริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 40 ปี โดยตรวจต่อเนื่องทุก 1-2 ปี หรือถี่กว่านั้นหากตรวจพบความผิดปกติ หมายเหตุ ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงมะเร็งเต้านม เช่น มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ที่อายุน้อยกว่า 40 ปี ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งเร็วขึ้น คือควรตรวจตั้งแต่อายุที่ญาติเป็นมะเร็งลบด้วย 5-10 ปี

การรักษามะเร็งเต้านม

1.การผ่าตัด แบ่งออกเป็น

  • การผ่าตัดเต้านมทั้งข้าง (Mastectomy)
  • การผ่าตัดเฉพาะก้อนมะเร็ง (Lumpectomy) ในผู้ป่วยมะเร็งระยะต้น
  • การผ่าตัดเต้านมหร้อมกับการสร้างเต้านมใหม่

2.การฉายแสง

3.การรักษาด้วยยา ได้แก่

  • ยาเคมีบำบัด
  • ยามุ่งเป้า
  • ยาต้านฮอร์โมน
  • ยาภูมิคุ้มกันบำบัด