-
พ่อแม่คือแบบอย่างให้กับลูก เป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูก ไม่ตึงไม่หย่อนเกินไป ปกครองลูกด้วยความเข้าใจและใช้เหตุผล เด็กๆจะได้รู้จักบทบาทหน้าที่ของตน ไม่ตามใจลูกมากเกินไป แต่จะคอยกำกับดูแลให้ลูกรู้จักผิดถูก มีความรับผิดชอบต่อสังคม
-
สมาชิกจะให้เกียรติและยอมรับในกันและกัน สมาชิกในครอบครัวทุกคน จะให้เกียรติและยอมรับกันในความเสมอภาคแห่งค่านิยมของสมาชิกคนอื่นๆ ยอมรับในความแตกต่างของคนอื่นๆ และชื่นชมในความเป็นเอกลักษณ์ของตนเองได้ การยอมรับและให้เกียรติ ยังมีความหมายไปถึงการเคารพในสิทธิส่วนบุคคลของสมาชิกครอบครัวทุกคน
-
พ่อแม่คือผู้ที่พร้อมรับฟังลูก ให้โอกาสได้พูดแสดงความคิดความรู้สึก ให้เด็กได้มีโอกาสแสดงออกทางความรู้สึกและความคิดจะทำให้เด็กๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่คิดเป็น กล้าแสดงออกและมีความเชื่อมั่นในตนเอง คนที่ขี้กลัวขาดความเชื่อมั่น มักจะเป็นบุคคลที่ถูกปิดกั้นในความคิดจากพ่อแม่ของเขาในวัยเด็กเสมอ
-
พ่อแม่จะสื่อภาษาเดียวกับลูก ผู้ใหญ่และเด็กจะมองโลกต่างมุมมองกัน รวมทั้งภาษาที่เด็กใช้ก็จะต่างกับของผู้ใหญ่ การพูดภาษาเดียวกันกับลูก หมายความถึง การใช้สำนวนภาษาที่เด็กวัยนั้นจะเข้าใจได้ นอกจากนี้ พ่อแม่เหล่านี้จะรู้ว่า เด็กก็คือเด็ก เด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวเล็กๆ ดังนั้น การอบรมสั่งสอนของพ่อแม่ อาจจะต้องทำซ้ำๆ กันหลายครั้ง บางที่ต้องพูดเป็นร้อยพันครั้งก็มี ก่อนที่เด็กจะรับรู้และเข้าใจ เพราะพ่อแม่คุณภาพเหล่านี้ เข้าใจดีว่า การทำซ้ำๆ บ่อยๆ เป็นหัวใจของการเรียนรู้ นอกจากนี้ เมื่อเวลาที่จะสื่อสารพูดคุยกัน สมาชิกจะมีจิตเมตตา ไม่จับผิดกัน มีคำพูดและการกระทำที่สอดคล้องกันไปในทิศทางเดียวกัน
-
พ่อแม่จะมีเวลาให้ลูกเสมอ ความต้องการของเด็กๆ ไม่สามารถจำกัดอยู่เฉพาะช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้นและจะทำเป็นตารางไว้ไม่ได้ ดังนั้น พ่อแม่จะพยายามหาเวลาอยู่กับลูกให้มากที่สุด จะไม่มีข้ออ้างว่า งานยุ่ง ธุรกิจรัดตัว ต้องรู้จักแบ่งเวลาอย่างชัดเจน
-
พ่อแม่ทำความผิดพลาดได้ พ่อแม่จะบอกให้ลูกรู้ว่า พ่อแม่คือมนุษย์ธรรมดาที่ทำผิดพลาดได้ และเมื่อพ่อแม่ทำผิด เขาจะยอมรับในความผิดพลาดนั้นทำให้ลูกรู้ว่าชีวิตที่แท้จริง มีสิ่งผิดพลาดเกิดขึ้นได้เสมอ เด็กๆจะกล้าคิด กล้าทำเมื่อทำผิดพลาดขึ้น ก็กล้ายอมรับผิด และเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข
-
พ่อแม่จะไม่ใช้เด็กมาเติมความ “ขาด” ทางใจของพ่อแม่ พ่อแม่จะไม่ใช้ลูกมาเติมความ “ฝัน” หรือเติม ความ “ขาด” ในชีวิตของตัวพ่อแม่เอง แต่จะช่วยประคับประคองลูกให้งอกงามและเติบโตในทิศทางที่ลูกเลือก เด็กจะอิสระที่จะมีชีวิตที่สมบูรณ์ของเขาเอง เพราะไม่ต้องมาคอยเป็นแพะรับบาปในสิ่งที่เขาไม่ได้ทำ ชีวิตของพวกเขาจึงพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ
-
เมื่อมีการทะเลาะกันในครอบครัวทั้งครอบครัวจะจับเข่าคุยกัน ครอบครัวคุณภาพ ก็เหมือนครอบครัวอื่นๆ คือ มีความไม่ลงรอยเกิดขึ้นได้ในความสัมพันธ์ของสมาชิกพ่อแม่ลูก แต่เมื่อมีการทะเลาะกันเกิดขึ้น ทั้งครอบครัว จะจับเข่าคุยกันเพราะความเข้าใจดีว่า เหตุที่เกิดกับคนหนึ่งในครอบครัวจะมีผลกระทบถึงทุกคนด้วยเสมอ แต่การคุยกันจะเป็นลักษณะของการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่จิกตีด่าทอกัน หรือกล่าวหากันไปมา ซึ่งไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง ดังนั้นปัญหาจึงได้รับการแก้ไขลุล่วงไปด้วยความร่วมมือร่วมใจกันของสมาชิกทุกคน
-
มีทั้งสุขและทุกข์เกิดขึ้นในครอบครัว ครอบครัวคุณภาพไม่ใช่ครอบครัวที่มีแต่ความสุข สมาชิกเจอทั้งสุขและทุกข์เหมือนครอบครัวอื่นๆ แต่เมื่อเผชิญกับภาวะวิกฤต ทุกชีวิตจะร่วมมือผนึกกำลังกันแก้ไข ให้ความสนับสนุนซึ่งกันและกันเพื่อแก้ไขความกดดันหรือมรสุมจากภายนอก
-
สมาชิกมีส่วนร่วมในการ “ให้” กับครอบครัว สมาชิกในครอบครัวทุกคน ตั้งแต่พ่อลงมาถึงลูกๆ รู้จักบทบาทหน้าที่มีความรับผิดชอบต่อตนเอง และครอบครัว ทุกคนมี “งาน” หรือภาระหน้าที่ที่จะทำให้แก่ครอบครัว ไม่ทอดทิ้งให้คนใดคนหนึ่งต้องรับผิดชอบแทนสมาชิกทุกๆ คน และมีส่วนร่วมกันในความสำเร็จหรือผิดพลาดที่เกิดขึ้นในครอบครัว
-
มีอารมณ์ขัน ทุกคนหัวเราะให้กันได้ สมาชิกมีจิตเมตตา โดยเฉพาะในความผิดพลาดของผู้อื่นและตนเอง สามารถหัวเราะให้แก่กันและกันได้เสมอ ให้อภัยและไม่ติดใจจดจำ ที่บ้านมีบรรยากาศแห่งความสบายๆ ไม่เครียด เด็กๆ ไม่ต้องมีชีวิตอยู่กับความกลัว ความหวาดระแวงว่า เมื่อไรพ่อแม่เขาจะมาระเบิดอารมณ์เอากับพวกเขาอีกคล้ายชีวิตที่เดินอยู่บนเส้นด้าย ไม่รู้ว่า เมื่อไรจะขาดลงมา
ครอบครัวที่มีคุณภาพเป็นอย่างไร
การที่สมาชิกในบ้านเป็นคนอย่างไรนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการใช้ชีวิตกับคนครอบครัว ครอบครัวคือพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เด็กๆเติบโตมาอย่างมีคุณภาพหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับพ่อแม่และคนในครอบครัวสำคัยว่ามีการอบรมเลี้ยงดูมาเช่นไร