หน้าหลัก

พ่อแม่หย่าร้าง ส่งผลกระทบต่อลูกอย่างไร

การหย่าร้างหรือเลิกรากันไม่ใช่สิ่งที่จะตัดสินว่าเราล้มเหลวในชีวิต เพราะมันคือส่วนหนึ่งในชีวิต การแยกทางกันถึงหน้าที่สามีภรรยาจะจบลง แต่ไม่ได้หมายความว่าหน้าที่พ่อและแม่จะจบลง เป็นมุมมองของคนส่วนใหญ่ที่คิดว่า พ่อแม่ที่เลิกกัน หรือครอบครัวแตกแยก จะทำให้เด็กจะมีปัญหา แต่จริงๆแล้วไม่เสมอไป เพราะเด็กบางคนถึงแม้พ่อแม่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน แต่ทั้งคู่ก็ยังทำหน้าที่ของตัวเองได้ดี ทำให้เด็กไม่ได้รู้สึกขาดความรักหรือการดูแลเอาใจใส่ไป ดังนั้นผลกระทบต่อลูกจะมีหรือไม่มีนั้น มาจากพ่อแม่ ว่าจะจัดการปัญหานี้ได้ดีแค่ไหน เพื่อไม่ให้กระทบลูกหรือกระทบน้อยที่สุด

พ่อแม่แยกทางกัน ส่งผลกระทบต่อลูก ดังนี้

  1. ทางจิตใจ ความรู้สึก
  • เหงา,บางเรื่องก็ไม่รู้จะปรึกษาใคร
  • ไม่มีเป้าหมายเพราะขาดคนซัพพอร์ต อยากเรียนพิเศษ,ไม่ได้เรียน ไม่ได้เที่ยวแบบเพื่อน ๆ
  • low-self esteem โดนเปรียบเทียบกับครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ,ไม่กล้าตัดสินใจในเรื่องการใช้ชีวิต,กลัวการเข้าสังคมเพราะต้องอยู่คนเดียวตอนเด็ก
  • ความรู้สึกลำบากใจ รู้สึกผิด เช่น วันหยุดหรือปิดเทอม ต้องเลือกว่าอยู่กับใคร ถ้าเลือกอีกคนก็รู้สึกผิดกับอีกคน
  1. สังคม
  • สายตาคนนอกที่มองมาเมื่อไม่อยู่พร้อมหน้าครอบครัว เช่น งานวันพ่อ งานวันแม่ที่โรงเรียน
  • ความสัมพันธ์ต่อคนอื่น พ่อแม่เลิกกันทำให้ลูกมีแฟนแล้วไม่ได้คิดถึงความสัมพันธ์แบบยืนยาว
  1. คนรอบข้าง สังคม
  • ต้องตามใจ เพราะสงสารที่เขาไม่มีพ่อไม่มีแม่ หรือมองว่าเขาขาด การตามใจทั้งหมดนั่นไม่แปลว่าจะรับผิดชอบหรือเติมเต็มอะไรให้เขา แต่เป็นการที่เรารักเขาในทางที่ผิดส่งผลให้เขาก็จะมองไม่เห็นคุณค่าในตัวเองหรือมองว่าตัวเองมีปัญหาจริง ๆ
  • กลัวการตั้งคำถามของเขา เพราะฉะนั้นคนรอบข้างก็เป็นครอบครัวให้กับเขาได้ เลี้ยงเขาดูแลเขาแบบเด็กปกติทั่วไปคนหนึ่ง จะทำให้เขามีมุมมองที่ดี ลองพูดข้อความดีๆกับเขา จะทำให้เขารู้สึกดีและเข้าใจในความเปลี่ยนเเปลง

วิธีที่ช่วยให้เด็กรับมือกับการหย่าร้างได้ดีขึ้น

เมื่อพ่อแม่หย่าร้างกัน ลูกย่อมต้องรู้สึกว่าเขาสูญเสียบางอย่างในชีวิตไป ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียพ่อหรือแม่ สูญเสียสมาชิกในครอบครัว หรือสูญเสียชีวิตประจำวันที่เคยมี และการสูญเสียก็อาจส่งผลกระทบร้ายแรงกับสุขภาพและการใช้ชีวิตของเด็กได้ คุณพ่อคุณแม่อาจช่วยให้เด็กรับมือกับการหย่าร้าง หรือการสูญเสีย ด้วยวิธีเหล่านี้

  • รับฟัง พยายามให้ลูกบอกความรู้สึกที่แท้จริงออกมา และพ่อแม่ควรรับฟังอย่างตั้งใจ

  • ช่วยลูกนิยามความรู้สึกของเขา เด็ก ๆ อาจแสดงความรู้สึกไม่เป็น โดยเฉพาะเมื่อเป็นเด็กเล็ก พ่อแม่จึงต้องคอยสังเกตอารมณ์และพยายามให้เขาระบายความรู้สึกออกมาให้ได้

  • คอยส่งข่าวและข้อมูลการหย่าร้างให้ลูกรับรู้ตลอด เด็กอาจจะมีคำถามเกี่ยวกับการหย่าร้างของคุณ และอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เมื่อเขาถามก็ควรอธิบาย อย่าให้ลูกรู้สึกว่าเขาเป็นส่วนเกิน หรือทำให้เขารู้สึกว่าพ่อแม่พยายามปิดบังอะไรอยู่

  • ทำให้ลูกรู้ว่าการที่พ่อแม่หย่าร้างกันไม่ใช่ความผิดของเขา เพราะหากลูกคิดว่าตัวเองเป็นสาเหตุของการหย่าร้าง ก็อาจส่งผลต่อจิตใจและการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ทำให้ผลการเรียนตกต่ำ มีปัญหาทะเลาะหรือชกต่อยกับคนอื่น เป็นต้น

  • ทำให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่ยังคงรักและคอยสนับสนุนเขาเหมือนเดิม อาจแสดงให้เขาเห็นทั้งด้วยคำพูดและการกระทำ เช่น บอกรัก กอด หอมแก้ม เป็นต้น