การตรวจสุขภาพ
คู่รักที่วางแผนจะมีครอบครัวควรเข้ารับการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานหรือก่อนตั้งครรภ์เพื่อวางแผนการมีบุตร โดยโรคทางพันธุกรรมและโรคทางเพศสัมพันธ์บางอย่างไม่แสดงอาการให้เห็น โดยทั่วไป แต่จะทราบได้จากการซักประวัติและตรวจเลือด ซึ่งการตรวจเช็คก่อนจะทำให้สามารถรู้ และวางแผนการรักษาดีกว่ารอจนมีอาการหรือความผิดปกติ การเข้ารับการรักษาได้อย่างรวดเร็ว จะช่วยป้องกันการติดเชื้อระหว่างคู่รัก และยังช่วยป้องกันการส่งผลเสียไปยังลูกด้วย ทั้งนี้สำหรับผู้ที่มีโรคทางพันธุกรรม โดยเฉพาะโรคธาลัสซิเมีย ซึ่งในคนไทยเป็นพาหะทางพันธุกรรมที่พบค่อนข้างบ่อย หากตรวจพบว่าเป็นพาหะทั้งคู่ ถือเป็นคู่เสี่ยงที่จะมีบุตรเป็นโรคธาลัสซิเมียชนิดรุนแรง แพทย์จะได้ใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนการมีบุตรได้อย่างถูกต้อง
ปัจจัยที่ส่งผลต่อโอกาสในการตั้งครรภ์
การตั้งครรภ์จะมีโอกาสมากขึ้นหรือน้อยลง ยังมีปัจจัยต่างๆ ที่มีผลกระทบ ต่อการตั้งครรภ์ ดังนี้
- ช่วงอายุที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 20-30 ปี จะมีลูกง่ายและปลอดภัยกว่าวัยอื่น หากอายุมากกว่า 35 ปี ความเป็นไปได้ที่จะตั้งครรภ์ในแต่ละเดือนจะยิ่งลดลงไปเรื่อย ๆ ตามอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอายุ 40 ปีขึ้นไป โอกาสในการตั้งครรภ์จะยิ่งลดต่ำลงมาก
- การมีรอบเดือนไม่ปกติ ทำให้ยากต่อการคำนวณช่วงเวลาตกไข่ มีผลต่อโอกาสเกิดการตั้งครรภ์ลดลง
- ความถี่ในการมีเพศสัมพันธ์ การมีเพศสัมพันธ์แนะนำควรมีวันเว้นวัน 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ไม่จำเป็นต้องมีทุกวัน ความเหนื่อยอาจเพิ่มความเครียดและทำให้ปริมาณของอสุจิลดน้อยลง ไม่แข็งแรงได้
- การเจ็บป่วยจากโรคบางชนิด หรือ การมีภาวะมีบุตรยาก อาจเป็นสาเหตุให้การตั้งครรภ์กลายเป็นเรื่องยากได้
การวางแผนก่อนตั้งครรภ์ ฝ่ายหญิงและชายสามารถทำได้ทั้งก่อนแต่งงานหรือหลังแต่งงานแล้ว ดังนี้
- ปรึกษากับแพทย์เข้ารับการตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ การเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 3 เดือน เพื่อดูว่าทั้งคู่มีโรคประจำตัวที่ส่งผลการตั้งครรภ์หรือไม่ ตรวจความเสี่ยงต่างๆ เกี่ยวกับพันธุกรรม โรคต่างๆ เพื่อจะได้ดูแลรักษาให้อาการดีขึ้นก่อนการตั้งครรภ์ รวมถึงแนะนำวิธีนับวันตกไข่เพื่อการวางแผนมีลูกที่ง่ายขึ้น โดยรายการตรวจที่สำคัญ ได้แก่ • การตรวจร่างกายโดยสูตินรีแพทย์อย่างละเอียด (Physical Examination by OB-GYN) จะเป็นการตรวจดูความสมบูรณ์ของร่างกายทั้งฝ่ายชายและหญิง โดยจะตรวจดูว่า มีโรคบางอย่างที่เป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์หรือไม่ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ฯลฯ หากตรวจว่าพบความผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด • ตรวจหาความสมบูรณ์เม็ดเลือด (CBC) เป็นการหาความเข้มของเลือดซึ่งในผู้หญิงไทยพบว่าการรับประทานอาหารแบบเร่งรีบส่งผลให้มีภาวะซีดสูงขึ้น ซึ่งควรเพิ่มความเข้มของเลือดโดยการรับประทานธาตุเหล็กบำรุงก่อนตั้งครรภ์ เพื่อพัฒนาการที่ดีของทารกในครรภ์ และทราบถึงปริมาณเกล็ดเลือด ซึ่งส่งผลต่อการห้ามเลือดตอนคลอดบุตร • การตรวจหมู่เลือดและความเข้ากันได้ของเลือด (ABO and Rh Grouping) เพื่อให้ทราบถึงหมู่เลือด ABO และ หมู่เลือด Rh+ ที่พบได้บ่อยในคนไทย แต่บางรายอาจมีหมู่เลือด Rh- ซึ่งหาได้ยาก ต้องมีการสำรองเลือดเพื่อความปลอดภัย และหมู่เลือด Rh – จะส่งผลต่อการตั้งครรภ์ครั้งที่ 2 ทำให้เสี่ยงต่อการแท้งบุตรสูง และทารกเจริญเติมโตช้ากว่าปกติ • ตรวจหาโรคทางพันธุกรรม-ธาลัสซิเมีย (Hb Typing) เป็นการตรวจความผิดปกติทางพันธุกรรมที่อาจแอบแฝงอยู่ เพื่อให้ทราบว่าคู่สมรสนั้น มีความเสี่ยงที่จะมีบุตรเป็นโรคธาลัสซีเมียหรือไม่ และจะมีทางเลือกอย่างไรบ้างในการมีบุตร และหาแนวทางในการป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ • ตรวจหาภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบชนิดบี และซี รวมทั้งการตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (Anti-HBs, Anti-HCV snd HBs Ag) ซึ่งเป็นการตรวจหาภูมิคุ้มกัน และเชื้อไวรัสตับอักเสบที่สามารถติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือกระแสเลือด จึงอาจส่งผลต่อการมีบุตรได้ • ตรวจหาการติดเชื้อ เอช ไอ วี หรือ เชื้อเอดส์ (Anti HIV) เป็นการตรวจหาเชื้อเพื่อจะได้มีการป้องกันการติดต่อทางเพศสัมพันธ์สู่คู่สมรส และวางแผนลดการติดเชื้อไปสู่บุตรได้ • ตรวจการหาเชื้อซิฟิลิส (VDRL) เป็นการตรวจหาโรคซิฟิลิส ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ หรือมีผลต่อทารกในครรภ์ โรคอื่นๆ เช่น หนองในเทียมที่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการท้องนอกมดลูก นำไปสู่การติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานและเกิดภาวะมีบุตรยากในที่สุด • ตรวจหาภูมิคุ้มกันหัดเยอรมัน (Rubella IgG) เป็นการตรวจเพื่อค้นหาภูมิคุ้มกันที่เกิดจากเชื้อไวรัสหัดเยอรมันในสตรี ซึ่งผลการตรวจหากพบว่าไม่มีภูมิคุ้มกัน ควรฉีดวัคซีนและคุมกำเนิดอย่างน้อย 3 เดือน ก่อนตั้งครรภ์ เพราะหากมีการติดเชื้อหัดเยอรมันระหว่างตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงที่จะทำให้บุตรพิการแต่กำเนิดหรือแท้งสูงได้
- รับการฉีดวัคซีน การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคก่อนตั้งครรภ์ ระหว่างตั้งครรภ์ หรือหลังจากตั้งครรภ์ แพทย์จะแนะนำให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคบางชนิด โดยวัคซีนที่ควรฉีดก่อนการตั้งครรภ์ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคหัด โรคหัดเยอรมัน และโรคอีสุกอีใส ซึ่งการฉีดวัคซีนบางชนิดอาจต้องรอระยะหนึ่งจึงจะเริ่มพยายามมีบุตรได้
- เตรียมความพร้อมเรื่องอาหารการกิน รับประทานอาหารให้ครบหมู่ ผักและผลไม้วันละ 5 ส่วน บริโภคปลาทะเลน้ำลึก สัปดาห์ละ 1-2 ครั้งเพื่อให้ได้กรดไขมันโอไมก้า 3 บำรุงสมองทารก และโฟเลต ซึ่งพบได้ในผักใบเขียว ส้ม มะนาว ธัญพืช ตับ ไข่แดง ฯลฯ หากได้รับไม่เพียงพอควรเสริมกรดโฟลิก หรือวิตามินบี 9 ขนาด 5 มิลลิกรัม วันละ 1 เม็ด หลีกเลี่ยงสมุนไพรหรืออาหารเสริม เพราะอาจส่งผลให้มีลุกยาก
- การดูแลสุขภาพช่องปาก เนื่องจากโรคเหงือกและฟันสัมพันธ์กับการที่แม่ขาดสารอาหารลูกน้ำหนักน้อย และติดเชื้อสามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวอ่อนได้ โดยก่อนวางแผนตั้งครรภ์ควรรับการตรวจสุขภาพช่องปากและฟันก่อนหน้าประมาณ 5 เดือนเพื่อเผื่อเวลาในการรักษาฟันที่มีปัญหาด้วย
- เลิกพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ พฤติกรรมเสี่ยงของฝ่ายหญิงตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์สามารถส่งผลให้ทารกได้รับอันตรายหรือโอกาสในการตั้งครรภ์ลดน้อยลง เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาเสพติด การใช้สารสเตียรอยด์ เป็นต้น โดยพฤติกรรมเหล่านี้จะทำให้มีลูกยาก เสี่ยงแท้ง คลอดก่อนกำหนด ลูกขาดสารอาหาร พิการ ลูกมีโอกาสพิการ หรือเสียชีวิตในครรภ์ได้
- การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดี ควรสำรวจดูว่าควรลดน้ำหนัก เพิ่มน้ำหนัก สร้างกล้ามเนื้อเพิ่ม หรือควรฝึกสมรรถภาพการหายใจของปอดหรือไม่ วิธีออกกำลังกายที่แนะนำ ได้แก่ เดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน แอโรบิค หรือเล่นโยคะ เป็นต้น
- พักผ่อนให้เพียงพอ ผู้หญิงที่กำลังวางแผนมีบุตรควรนอนพักผ่อนวันละ 8 ชั่วโมง ซึ่งการพักผ่อนที่เพียงพอยังสามารถช่วยผ่อนคลายจากความตึงเครียดได้ด้วย