หน้าหลัก

ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ดีอย่างไร

การตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์เป็นเรื่องสำคัญ เพราะสุขภาพของพ่อแม่จะส่งผลไปถึงเด็กในครรภ์ด้วย อีกทั้งยังช่วยป้องกันความเสี่ยงที่ส่งต่อโรคทางพันธุกรรมจากพ่อแม่ด้วย หากคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้ตรวจสุขภาพก่อน และไม่รู้ว่าตนเองมีโรคแฝงหรือเป็นพาหะโรคทางพันธุกรรม ทำให้ไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงนี้ เด็กที่เกิดมาอาจมีร่างกายไม่สมบูรณ์ พิการ หรือมีโรคทางพันธุกรรมบางอย่าง ดังนั้นเมื่อวางแผนตั้งครรภ์ ควรตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้

การตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ มีอะไรบ้าง

  1. ในเบื้องต้นแพทย์จะทำการซักประวัติทั้งว่าที่คุณพ่อและคุณแม่ ดังนี้
  • ประวัติการคุมกำเนิด เคยคุมกำเนิดแบบไหน ยังคุมอยู่หรือไม่ ประจำเดือนมาปกติหรือไม่
  • ประวัติการเจ็บป่วย การผ่าตัด หรือการรักษาทางการแพทย์อื่นๆ
  • ประวัติการตั้งครรภ์ก่อนหน้านี้ เช่น เคยตั้งครรภ์มาก่อนไหม มีประวัติการแท้งหรือไม่
  • ประวัติครอบครัว เพื่อให้ทราบไปถึงโรคทางพันธุกรรมที่อาจเกิดขึ้น เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ธาลัสซีเมีย
  • ประวัติการฉีดวัคซีน เช่น วัคซีนหัดเยอรมัน ไวรัสตับอักเสบ อีสุกอีใส
  • ประวัติการใช้ยา การใช้ยารักษาโรคประจำตัว รวมไปถึงการแพ้ยา
  • ประวัติส่วนตัว เช่น การทำฟัน ดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่หรือไม่ การออกกำลังกาย การนอน สภาพแวดล้อมในบ้าน การเลี้ยงสัตว์
  1. ตรวจร่างกายทั่วไป เพื่อดูความสมบูรณ์ของร่างกาย เช่น วัดส่วนสูง ชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต ตรวจระบบหายใจ ตรวจระบบหัวใจ ตรวจเต้านม ตรวจหน้าท้อง เอกซ์เรย์ ตรวจมะเร็งปากมดลูก หากตรวจว่าพบความผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่ง จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด ทั้งแพทย์เฉพาะทางและสูตินรีแพทย์ ซึ่งจะต้องพิจารณาร่วมกันว่าสมควรให้มีการตั้งครรภ์ได้หรือไม่
  • ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ และเอกซเรย์ปอด ในขั้นตอนนี้โดยรวมแล้วจะเป็นการตรวจเพื่อดูความเข้มข้นของเลือด โรคเลือด โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงโรคติดต่อทางพันธุกรรม และหาภูมิคุ้มกันโรคบางอย่าง เช่น ความเข้มข้นของเม็ดเลือด ตรวจหาภูมิหัดเยอรมัน ระดับน้ำตาลในเลือด โรคทางพันธุกรรมแฝง รวมไปถึงการตรวจเชื้อ HIV (เอดส์) หากพบว่าทั้งพ่อและแม่ต่างก็มีโรคทางพันธุกรรมแฝงอยู่ในตัว จะมีโอกาสถ่ายทอดไปยังลูกได้ 1 ใน 4 คน เลยทีเดียว
  • การตรวจภายในสำหรับคุณแม่ เพื่อตรวจว่ามดลูกและรังไข่ปกติดีหรือไม่ ตรวจอุ้งเชิงกรานและช่องคลอด เพราะมีผลโดยตรงต่อการตั้งครรภ์และการคลอด เช่น อาจมีการอักเสบ มีเนื้องอกของมดลูกหรือรังไข่ มีพังผืดหรือมีถุงน้ำในรังไข่ เป็นต้น แถมการตรวจภายในยังถือว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้ตรวจมะเร็งปากมดลูกไปด้วย
  • ตรวจพิเศษก่อนตั้งครรภ์ กรณีนี้จะตรวจเพิ่มเติมก็ต่อเมื่อแพทย์ตรวจร่างกายตามปกติแล้วพบความผิดปกติ ก็อาจต้องตรวจพิเศษเพิ่มเติมด้วย เช่น ตรวจอัลตราซาวนด์ในช่องท้อง หรือส่องกล้องตรวจในอุ้งเชิงกราน เป็นต้น นอกจากการตรวจสุขภาพแล้ว ก็ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์ งดดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ เพื่อเตรียมพร้อมให้เจ้าตัวน้อยมีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์

ที่มา เพจ รพ. พญาไท