หน้าหลัก

ปัญหาที่พบบ่อยในการดูแลทารกแรกเกิด

คุณพ่อและคุณแม่มือใหม่หลายๆท่านมีความวิตกกังวลกับอาการบางอย่างที่พบในลูกน้อยที่เพิ่งคลอด ดังนั้นให้หมั่นสังเกตและดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิด บางอาการเป็นปกติของเด็กทารกที่สามารถเกิดขึ้นได้จึงไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ แต่บางอย่างอาจมีอาการรุนแรงได้ ดังนั้นหากมีอาการควรรีบพาลูกน้อยมาพบแพทย์

ปัญหาที่พบบ่อยในการดูแลทารกแรกเกิด มีดังนี้

ไข้

ทารกจะร้องกวนและงอแงเมื่อรู้สึกไม่สบายตัว หากใช้ปรอทวัดไข้ได้อุณหภูมิมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส แสดงว่ามีไข้ ให้เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นเพื่อลดไข้ หากมีไข้สูง กระสับกระส่าย ซึม ไม่ยอมดูดนม ต้องรีบพามาพบแพทย์

ตัวเย็น

ทารกจะมีผิวหนังที่เย็น ซีด หรือคล้ำ ร่วมกับอาการซึม ไม่ดูดนม และหายใจเร็ว ควรปรับอุณหภูมิห้องให้เหมาะสม ห่อตัวด้วยผ้าหนาๆ แล้วรีบนำมาพบแพทย์

ตัวเหลือง

เป็นภาวะปกติที่พบได้ในทารกแรกเกิด มักพบ 2-3 วันหลังคลอด และมักหายไปได้เองภายใน 2 สัปดาห์โดยไม่มีอันตราย อาการของตัวเหลืองคือตาและผิวหนังของทารกจะมีสีเหลือง ซึ่งเกิดจากสารสีเหลืองที่เรียกว่า “บิลิรูบิน” เป็นสารที่เกิดจากเม็ดเลือดแดงที่หมดอายุแล้วแตกตัวเสื่อมสลายไป ปกติกระบวนการนี้จะเกิดขึ้นในตับ และถูกขับออกมาในอุจจาระทางลำไส้ คนทั่วไปจะไม่เหลือสารบิลิรูบินติดค้างตามผิวหนัง ยกเว้นในทารกแรกเกิด เพราะเม็ดเลือดแดงจะมีอายุสั้นกว่า ทำให้มีการสร้างสารบิลิรูบินมากขึ้น และตับยังทำงานไม่เต็มที่ จึงทำให้ขับสารบิลิรูบินออกได้ไม่หมด โดยเฉพาะทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะยิ่งเกิดภาวะตัวเหลืองได้มากขึ้น

ทารกแรกเกิดทุกรายจะได้รับการตรวจตัวเหลืองทางผิวหนังก่อนกลับบ้าน หากตัวเหลืองมากจนถึงขั้นต้องรักษา แพทย์จะทำการตรวจวัดระดับบิลิรูบิน โดยเจาะเลือดจากส้นเท้าของทารกไปตรวจโดยใช้เครื่องมือพิเศษ หากไม่สูงมากจะรักษาโดยการ ส่องไฟ เพื่อให้มีการขับบิลิรูบินออกมาทางอุจจาระ ปัสสาวะ และผิวหนังของทารก หากระดับของบิลิรูบินสูงมากจนถึงระดับที่จะทำอันตรายต่อสมอง ซึ่งจะทำให้เกิดสมองพิการในระยะต่อมา ต้องรักษาโดยการ ถ่ายเลือด หากคุณพ่อคุณแม่ไม่แน่ใจหรือมีข้อสงสัย สามารถกลับมาโรงพยาบาลเพื่อขอคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ แพทย์ และพยาบาลได้

สำรอก แหวะ หรือ อาเจียน

ทารกแรกเกิดแหวะนมเล็กๆ น้อยๆ ถือเป็นภาวะปกติ เพราะหูรูดของกระเพาะอาหารยังไม่แข็งแรง ควรปรับการให้นมใหม่ โดยให้ทารกดูดนมในปริมาณน้อยๆ แต่ดูดบ่อยขึ้น และอุ้มเรอประมาณ 10-15 นาทีหลังมื้อนมทุกครั้ง จะช่วยลดอาการแหวะนมได้ หากทารกมีอาการสำรอก อาเจียน ปลายมือปลายเท้าเย็น ให้รีบนำมาพบแพทย์

สะอึก

สะอึกเป็นภาวะปกติที่พบได้ในทารกแรกเกิด และพบได้หลังดูดนม สามารถลดภาวะสะอึกได้โดยอุ้มเรอในท่าปกติ หรือลดปริมาณนมในแต่ละมื้อ แต่ให้บ่อยครั้งขึ้น เมื่ออายุมากขึ้นทารกจะสะอึกน้อยลง

อุจจาระ

ในช่วง 1-2 วันแรกหลังคลอด ทารกจะถ่ายอุจจาระวันละ 1-2 ครั้ง อุจจาระจะมีลักษณะเหนียว มีสีดำอมเขียว เรียกว่า ขี้เทา หากทารกยังไม่ถ่ายขี้เทาภายใน 48 ชั่วโมงแรกหลังคลอด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อค้นหาความผิดปกติที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นเมื่อทารกได้รับนมแม่มากขึ้น อุจจาระจะเริ่มเปลี่ยนสีเขียวจางๆ สีน้ำตาล และสีเหลืองในที่สุด

โดยทารกแรกเกิดที่กินนมแม่จะถ่ายอุจจาระบ่อย วันละประมาณ 3-4 ครั้ง ปัสสาวะวันละหลายครั้ง อุจจาระจะมีลักษณะเละๆ สีเหลืองทอง สำหรับทารกที่กินนมผสมจะถ่ายอุจจาระวันละประมาณ 1-2 ครั้ง อุจจาระมักจะแข็งและมีจำนวนมาก ส่วนอุจจาระที่ผิดปกติคือมีมูกเลือดปนหรือเหลวเป็นน้ำ คุณพ่อคุณแม่ต้องทำความสะอาดก้นและอวัยวะสืบพันธุ์ของทารก และเปลี่ยนผ้าอ้อมทุกครั้งหลังทารกถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ และควรหมั่นสังเกตอุจจาระและปัสสาวะเพื่อประเมินสุขภาพของทารก

ตาแฉะ ตาอักเสบ

อาการตาแฉะ น้ำตาไหล หรือมีขี้ตามาก มักเกิดจากท่อน้ำตาตีบในทารกแรกเกิด หากมีขี้ตาให้ใช้สำลีชุบน้ำต้มสุก เช็ดทำความสะอาดจากหัวตาไปหางตา การนวดตาบ่อยๆ จะช่วยลดความรุนแรงของอาการได้ แต่หากเยื่อบุตาขาวแดง หนังตาบวม ต้องนำมาพบแพทย์

สะดือแฉะ หรือ สะดือยังไม่หลุด

โดยปกติสะดือมักจะหลุดประมาณ 2-4 สัปดาห์หลังคลอด คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยกล้าเช็ดสะดือเพราะกลัวลูกเจ็บ จึงทำให้สะดือยิ่งหลุดช้าขึ้น ดังนั้น ควรเช็ดทำความสะอาดสะดือทุกครั้งเมื่อต้องอาบน้ำทารก อย่าปล่อยให้สะดือแฉะ เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบ บวม แดง หรือมีหนอง และมีกลิ่นเหม็น หากมีอาการดังกล่าวต้องนำทารกมาพบแพทย์

พังผืดใต้ลิ้น หรือ ลิ้นถูกตรึง

หากใต้ลิ้นของทารกมีพังผืด อาจทำให้มีปัญหาในการดูดนม และการออกเสียงบางคำได้ไม่ชัดในอนาคต การรักษาทำได้โดยการผ่าตัดขลิบลิ้น ซึ่งเป็นการผ่าตัดเล็ก หากผ่าตัดตั้งแต่ช่วงแรกเกิดหรืออายุไม่เกิน 1 เดือน จะทำได้ง่ายที่สุด

ผื่นแดง

ผื่นแดงเกิดจากความสกปรกและอับชื้นบริเวณขาหนีบหรือบริเวณที่สวมผ้าอ้อม การลดการใช้แพมเพิร์สและเปลี่ยนผ้าอ้อมทุกครั้งหลังการถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ จะช่วยลดการเกิดผื่นแดงได้ หากอาการไม่ดีขึ้นควรพาลูกมาพบแพทย์

ตุ่มแดงหรือหนองที่หัวไหล่ข้างซ้าย

ทารกแรกเกิดทุกรายจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรค (บีซีจี) ซึ่งหลังฉีดมักจะทำให้เป็นตุ่มแดงหรือหนองเมื่อทารกอายุประมาณ 2-4 สัปดาห์ โดยปกติไม่จำเป็นต้องทำอะไรเพราะตุ่มดังกล่าวจะหายไปเอง ยกเว้นถ้าตุ่มหนองแตก ให้ใช้สำลีชุบน้ำต้มสุกเช็ดทำความสะอาด